พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนพ้องน้องพี่ที่รักทุกท่านโปรดทราบ....
ี
ณ ปัจจุบันขณะนี้มีนิทรรศการภาพพิมพ์แกะไม้ (Woodcut) โดย ผศ. สุรชัย เอกพลากร ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเจ้าพ่อแห่ง woodcut กำลังมีจัดแสดงที่ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทำการ จันทร์-ศุกร์: 9.00-19.00 น. เสาร์: 9.00-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เข้าชมฟรีจ้า
แล้วศิลปินเป็นใครมาจากไหนนะ :
สุรชัย เอกพลากร จบปริญญาตรีสาขาการสอนวิชาเฉพาะ (ศิลปศึกษา) จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านภาพพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยศิลปะทามะ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นกลับมาทำงานเป็นอาจารย์สอนศิลปะ อยู่ที่ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 มาจนถึงปัจจุบัน
ในวันเปิดงาน 1 ก.ค.53 ที่ผ่านมา แม้ฝนจะตกโปรยปราย แต่ผู้คนต่างมาร่วมยินดีคับคั่ง มีทั้งประชาชนทั่วไป เด็ก นักศึกษา และนักข่าวจากไทยพีบีเอส
เมื่อเข้าไปในห้องที่จัดแสดงรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่นึกว่าจะได้เห็นภาพพิมพ์แกะไม้ขนาดใหญ่ (มาก) ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่าศิลปะแบบนี้ไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ เพราะต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์งานมากกว่าภาพทั่วไปหลายเท่า ต้องอาศัยจังหวะ ท่าที และการลงน้ำหนักที่เหมาะเจาะ จิตต้องนิ่งใจต้องสงบมากๆ ทั้งทักษะและฝีมือขั้นเทพถึงจะได้งานอย่างที่เห็นนี้ จากแผ่นไม้ธรรมดาๆ เกิดเป็นภาพมีเรื่องราวให้เราพินิจพิเคราะห์ตามแต่จินตนาการของแต่ละคน
ทำให้การดูงานศิลปะครั้งนี้สนุกมาก ออกจะเป็นนักสืบหน่อยๆ ที่ติดตามสะกดรอยใครคนหนึ่ง (ที่เป็นนักเต้นระบำ) เสียดายที่ไม่สามารถขีดๆ เขียนๆ บันทึกภาพลงสมุดอย่างน้องๆ นักศึกษา ฉันจึงได้แต่บันทึกลงในความทรงจำแทน
ในความมืด (ภาพขาวดำ) ฉันเห็นเขากับผู้หญิงท้องแก่และผู้ชายอีกคนคุยกันโฉ่งเฉ่งอย่างออกรส พอเดินไปอีกหน่อยก็เห็นสามคนนี้อีก ในอริยาบทเดียวกันแต่เป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง (เป็นภาพสี) พวกเขายังคงคุยกันไม่หยุดแต่ดูอ่อนช้อยกว่ามาก เห็นสีสันของรอยทีแปรงมากขึ้น ในที่โล่งกว้าง มีสายลมพัดผ่าน ความสงบสุขกลับมาอีกครั้ง
และเมื่อสามคนนี้เดินทางต่อและไปพบกับคนมากขึ้นเรื่อยๆ ความวุ่นวายและเรื่องแปลกก็เกิดขึ้น พลังของทีแปรงเริ่มหนักหน่วงมีพละกำลังทบทวี นักเต้นระบำหายไปกลมกลืนกับฝูงชน แต่ความงามทางศิลปะยังคงอยู่...
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเสพงานศิลปะครั้งนี้ มากันเยอะๆ นะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น