วันจันทร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ก้าวสำคัญของการเดินทางชีวิต
ความสำคัญของ "กระดุมเม็ดแรก"
เคยไหมที่คุณตื่นนอนยามเช้า ครึ่งหลับครึ่งตื่น สวมเสื้อราวกับคนไร้วิญญาณ
เมื่อกลัดกระดุมเสร็จแล้วก็พบว่า ชายเสื้อทั้งสองข้างไม่เท่ากัน คุณกลัดกระดุมผิดทั้งแถว!
มันเริ่มจากการที่คุณไม่รู้ว่า คุณกลัดเม็ดแรกผิด แล้วกลัดต่อไปทีละเม็ดอย่างถูกต้อง เมื่อกลัดกระดุมเสร็จสิ้น ก็ผิดทั้งหมด
ในตัวอย่างนี้ ความไม่รู้ทำให้คุณ 'กลัดกระดุม' ผิดทั้งแถว!
เคยไหมที่คุณเก็บเนื้อในตู้เย็นนานข้ามปี จนเนื้อหมดอายุ แต่ไม่ยอมทิ้ง
เพราะเป็นเนื้อจากต่างประเทศ ราคาแพง
คุณปรุงอาหารจนเสร็จ เมื่อกินแล้วไม่อร่อยหรืออาหารเป็นพิษ
ในตัวอย่างนี้ ความเสียดายทำให้คุณ 'กลัดกระดุม' ต่อไป ทั้งที่รู้ว่าเม็ดแรกผิดรู!
เคยไหมที่คุณสมัครเรียนสายวิชาที่คุณไม่ชอบ ไม่ว่าเพราะพ่อแม่บังคับ
หรือไม่รู้จะเรียนอะไรนอกเหนือจากสายนั้น คุณสอบได้ ลงทะเบียน
เรียนผ่านไปทีละเทอม ทีละปี จนจบ คุณได้รับปริญญาบัตร
หางานที่เกี่ยวข้องกับสายวิชาที่ร่ำเรียนมา แล้วทำงานไปทีละวันๆ
ทีละเดือนๆ ทีละปีๆ จนวันหนึ่งคุณก็หมดแรง
และยอมรับว่าคุณ 'กลัดกระดุม' ผิดมาตั้งแต่เม็ดแรก
ในตัวอย่างนี้ ความละเลยทำให้คุณดันทุรัง 'กลัดกระดุม' เม็ดต่อไปทั้งที่รู้ดีว่ากลัดเม็ดแรกผิด
กระดุมเม็ดแรกสำคัญอย่างยิ่ง มันเป็นรากฐานของกระดุมเม็ดที่สอง สาม สี่...
กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ผิดหมดทั้งแถว ผิดทั้งยวง และอาจจะผิดทั้งชีวิต!
ตึกรามบ้านช่องไม่ว่าจะออกแบบสวยงามเพียงไร
หากคำนวณฐานรากไม่ถูกต้อง วันหนึ่งก็เอียงล้ม
เด็กไม่ว่าฉลาดเพียงไร หากเอาแต่เล่นเกม ดูแต่หนังรุนแรง เอาแต่ใจตัวเอง
โตขึ้นก็อาจเป็นปัญหาภาระที่สังคมต้องแบกรับ
ซื้อรองเท้ายี่ห้อดังมาแล้ว ถึงคับก็ทนสวม ไม่นานก็ต้องแก้ปัญหาเรื่องเท้าเจ็บ
เพื่อนให้ขนมเค้กจากร ้านที่มีชื่อเสียง จะให้คนอื่นก็เสียดาย
จึงฝืนกินเข้าไปทั้งที่อ้วนอยู่แล้ว ผลที่ตามมาคือร่างกายเสียหาย
คุณอาจยอมปล่อยบางปัญหาไป หลับตาข้างหนึ่งแล้วหวังว่า ปัญหานั้นจะละลายหายไปเอง
แต่ท้ายที่สุดก็ต้องแก้ปัญหานั้นอยู่ดี ทั้งยังต้องจ่ายราคาค่าแก้ปัญหามากกว่าเดิม
ไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจก เช่น การใช้ชีวิต การศึกษา การทำงาน ความรัก
ไปจนถึงระดับมหภาคเช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง
ไม่ว่าจะด้วยความไม่รู้ ความปล่อยปละละเลย หรือความเสียดาย หรือเหตุผลใด! ก็ตาม
หากกลัด 'กระดุม' เม็ดแรกผิด ทุกสิ่งที่ทำถูกต้องหลังจากนั้นจะกลายเป็นผิดไป!
การแก้ปัญหาของการ 'กลัดกระดุมผิดเม็ด' นี้มีทางเดียว
คือ ปลด ' กระดุม' ทั้งหมดออกมาก่อน แล้วกลัดใหม่
การไม่รู้เป็นเรื่องหนึ่ง การรู้แล้วยังทำต่อไปเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หลายคนทำงานตามคำสั่งทั้งที่รู้ว่า 'กระดุมเม็ดแรก'
ไม่ตรงรูกระดุมของมัน กว่าจะรู้ตัว ก็กลายเป็นปัญหาลูกโซ่
หลายๆ ระบบในสังคมเช่น ระบบการเมือง การศึกษา ฯลฯ
ดำเนินมานานปี ทั้งที่เรามองเห็นปัญหา แต่ก็ดำเนินต่อไปทั้งด้วยความไม่รู้
ความเขลา ความปล่อยปละละเลย ด้วยความเชื่ออย่างนกกระจอกเทศว่า
มุดหัวลงดินสักพัก เดี๋ยวปัญหาก็หายไป แต่ปัญหาไม่เคยหายไป
มีแต่สะสมด้วยดอกเบี้ยทบต้น ยิ่งแก้ไขช้า ราคาแก้ไขยิ่งแพง
บางครั้งการตัดใจเข้าห้องผ่าตัดปฏิรูปตัวเองก็เป็นทางแก้ที่ถูกต้อง
ยอมตัดใจตัดวงจรเดิมนั้นทิ้ง แล้วเริ่มต้นใหม่
เพราะความเสียหายในระยะยาวน้อยกว่า ประหยัดเวลาโดยรวมมากกว่า
ทุกๆ หลายก้าวที่เดินหน้า เราควรหยุดและทบทวนดู 'กระดุม' ของเรา
หรือของสังคมว่า กลัดถูกรูไหม ถ้าไม่ก็อย่ารอช้า ปลด 'กระดุม' ทั้งหมดออกมาก่อน แล้วกลัดใหม่
ผู้ทำผิดแล้วไม่แก้ไข กำลังทำผิดอีกครั้งหนึ่ง
ขงจื๊อ
วันพุธที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
จ๊ะเอ๋ ! บุ๊คไวรัส / ฟิล์มไวรัส ที่งานมหกรรมหนังสือ
ท่านใดที่สนใจหนังสือ Filmvirus Collection สามารถหาซื้อได้ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 15 ที่ บูธ ออเตอร์เนทีฟ ไรเตอร์ (Alternative Writer) M12 โซน C และที่บูธระหว่างบรรทัด โซน Atrium W10
ระหว่างวันที่ 21 – 31 ตุลาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 10.30 น. – 20.30 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต
ส่วนรายละเอียดหนังสือตามนี้เลยจ้า
บุ๊คไวรัส เล่ม 1 : A-Z หนังวรรณกรรม (รวม 262 หนังนานาชาติ จากนักเขียน 129 คน เขียนคำนิยมโดยสองชาติ คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)
บุ๊คไวรัส เล่ม 2 (รวมเรื่องสั้นทั้งจากนักเขียนไทยและเทศ)
เรื่องสั้นไทยประกอบด้วย
“จินตนาการไร้บรรทัด” : Visual Art Novel โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
“ในท่ามกลางแสงแห่งเดือนอันฉายฉาน” โดย แดนอรัญ แสงทอง
“ความตายกับศิลปิน” โดย อุทิศ เหมะมูล
“สุมลกับสุมลรัตน์” โดย เอื้อ อัญชลี
“ความเงียบแห่งจักรวาล” โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์
และเรื่องสั้นต่างประเทศ
“โทรเลขสองฉบับ” (มิเกลอันเจโล่ อันโตนีโอนี่- เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“พื้นที่ทางใจ” (แซม เชพพาร์ด - เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“แดนใต้” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“กาลอวสาน” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“ เกม” (โดนัลด์ บาร์เทลมี่ – เขียน) แปลโดย จิตติ พัวสุทธิ
“หูล้างเลือด” (อีแธน โคน – เขียน) แปลโดย ชนิดา ศักดิ์สิริสัมพันธ์
“บทสัมภาษณ์ ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส โดย อามาเลีย บาริลี่” แปลโดย กรกิจ ดิษฐาน
และอื่นๆ
บุ๊คไวรัส เล่ม 3 : กาจับโลง (2 เรื่องสั้นแปลจากนักเขียนระดับโลก)
“เลือดสามหยาด” (Sadeq Hedayat - เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“สารานุกรมชีวิตผู้ตาย” (Danilo Kis – เขียน) แปลโดย ธิติยา ชีรานนท์
บุ๊คไวรัส เล่ม 4 : สนธิสัญญาอสูร (3 เรื่องสั้นแปลที่สังสรรค์โลกมืดกับความขันขื่น)
ประเดิมเรื่องสั้นจาก Felisberto Hernandez (ครูใหญ่ของนักเขียนอย่าง Gabriel Garcia Marquez, Julio Cortazar และ Italo Calvino)
“จรลีร่ำไห้” (Felisberto Hernandez – เขียน) แปลโดย ชัยวัฒน์ ทองรัตน์
“บุญผ่อนบาป” (Slawomir Mrozek – เขียน) แปลโดย ชาญชนะ หอมทรัพย์
“หน้าต่างกลางไพร” (Jonathan Baumbach – เขียน) แปลโดย ณิชา อู่ดาราศักดิ์
บุ๊คไวรัส เล่ม 5 : นางเพลิง
บาซูก้าของจูเลีย ผลงานของ แอนนา คาแวน (อังกฤษ)
ภูเขาอุกกาบาต ของ ฉาน เสว่ (จีน)
ช้างคืนเรือน ของ โจ คียุง รัน (เกาหลี)
บุ๊คไวรัส เล่ม 6 : เดอะ เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ (ฉบับครบรอบ 100 ปี)
Algernon Blackwood – เขียน
แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง (ที่เจ้าตัวออกปากว่าเป็นงานแปลที่โหดหินที่สุดในชีวิต)
ตัวเรื่องนั้นมีที่มาจากตำนานปรัมปราที่เล่าขานกันมานานเกี่ยวกับอสูรร้ายโฉบกระชากวิญญาณในป่าหิมะ ซึ่งชาวป่าต่างคุ้นเคยกันดี แต่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นหน้าตาแล้วรอดชีวิตกลับมาเล่าสู่กันฟัง
บุ๊คไวรัส เล่ม 7 : นารีนิยาม (เบิกม่านเรื่องสั้นผู้หญิงเกินนิยาม)
“นักว่ายน้ำ” (มิแรนดา จูลาย – เขียน) แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร
“เกมที่ค้างคา” (โกลี ทารากี - เขียน) แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง
“ม้าน้ำ” (ฮิโรมิ คาวาคามิ – เขียน) แปลโดย โดยมัทนา จาตุรแสงไพโรจน์
“ลอกลายกุหลาบ” (แคลริซ ลิสเปคเตอร์ – เขียน) แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์
“จบให้สวย” (มาร์กาเร็ท แอ็ตวูด – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
อ่านสัมภาษณ์บรรณาธิการเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ได้ที่
http://www.onopen.com/filmvirus/10-07-25/5494
ฟิล์มไวรัส เล่ม 3 : อีสาวกายสิทธิ์
รวมบทความ + บทสัมภาษณ์ พร้อมวีดีโอหนังสามัญประจำบ้าน
ฟิล์มไวรัส เล่ม 4 : สางสำแดง
(รวมหนัง cult และหนังสยองขวัญระดับอุบาทว์คลาสสิก
ฟิล์มไวรัส 5 : ปฏิบัติการหนังทุนน้อย
รวม 5 บทความจากนิตยสาร Filmview และอีก 18 บทความเขียนใหม่แนะนำผู้กำกับหนังทุนสมอง ลงทุนประหยัด (ไม่เน้นทุ่มทุนขว้างเหวี่ยงทุนเสนอ)
The 8 Masters
แนะนำ 8 ผู้กำกับหนังระดับโลก โดยกลุ่ม Filmvirus
151 Cinema
151 หนังนานาชาติที่อยากชวนชม แนะนำโดยกลุ่ม filmvirus
Unknown Forces ( สัตว์วิกาล : ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ) - ตุลาคม 2550
รวมบทความและข้อเขียนเกี่ยวกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล - คนทำหนังไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับการยอมรับสูงสุดจากทั่วโลก ด้วยผลงาน สุดเสน่หา, สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ (จัดทำโดยกลุ่ม filmvirus)
ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ : ตำรับชีวิตสามัญโกอินเตอร์
รวมบทสัมภาษณ์คนทำหนังอิสระไทย 13 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ ชัยชนะเล็ก ๆ ของคนทำหนังไทยนอกระบบสตูดิโอ ร่วมด้วยบทความแนะนำการติดต่อแหล่งทุนจากต่างประเทศ ลักษณะเฉพาะของแหล่งทุนแต่ละแห่ง พร้อมแนะนำตัวอย่างหนังนานาชาติที่ได้รับทุน
.......................................
ฝากอุดหนุนด้วยนะ ขอบคุณจ้า
วันจันทร์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓
เผาฟิล์มไวรัส เผ็ด สวย ดุ ณ เก๋ไก๋
โปรแกรมหนังสั้น + มิวสิควีดีโอของชาวคณะฟิล์มไวรัสและผองเพื่อน
Don’t Mess with Us: Filmvirus and Friends
เปลี่ยนสถานที่จาก ตูดยุง แกลเลอรี่ กลับไปที่เดิม คือห้องเรวัติ พุทธินันทน์ ชั้นใต้ดิน U 2 ของ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ (ตึกสีขาวสูงริมน้ำ) - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน เริ่มงาน 12.30 น. – ประมาณ 17.30 น.
* * * ไม่ต้องจ่ายค่าเข้าห้องสมุด แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่หอสมุดว่า "มาชมภาพยนตร"์ และกรุณางดกางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น กอดอก สายเดี่ยว และรองเท้าแตะจิ้งโจ้นะจ๊ะ เนื่องจากเป็นสถานศึกษาและสถานที่ราชการ * * *
วิจารณ์และฉายหนังคนอื่นมามากแล้ว คราวนี้ขอเชิญชวนชมหนังที่ทำโดยสมาชิกกลุ่มฟิล์มไวรัสและคนใกล้ชิดกันบ้าง เชิญร่วมทัศนา พูดคุย และวิจารณ์ยำใหญ่ได้แบบไม่ยั้งมือ
รายชื่อภาพยนตร์บางส่วนที่จะจัดฉาย (ไม่เรียงตามลำดับการฉายก่อนหลัง)
- 'ขุนนางป่า' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
- 'บ้านของพรุ่งนี้' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
- 'ไม้เหลือง' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
- 'คนฉายหนัง' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
- 'ดำกับแดง' กำกับโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
- I’m Nobody, Who are You? กำกับโดย สมเกียรติ์ วิทุรานิช
- 'สู่เส้นชัย' / Run a Race (2005) กำกับโดย 'อลงกต' ความยาว 1 นาที (animation)
- ฯยามวิกาลฯ' / Nocturnal Happening (2004) / กำกับโดย 'อลงกต'
ความยาว 13 นาที (สยองขวัญแนวทดลอง)
- 'ก่อนเดินทาง' / Before Departure (2004) กำกับโดย 'อลงกต'
ความยาว 15 นาที (สยองขวัญแนวทดลอง)
- พายุผีเสื้อ /The Butterfly Effect (2008) วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
ความยาว 17 นาที
- เพ็ญ /La Lunar (2009) วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ความยาว 8 นาที
- เดียวดายทุกหนแห่ง / Loneliness Everywhere วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
ความยาว 9 นาที
- ประวัติย่อของบางสิ่งที่ยังไม่จบสิ้น pulsatile mass (2009) นฆ ปักษนาวิน
ความยาว 40 นาที
- Marianne Quartet (2003) ไกรวุฒิ จุลพงศธร 30 นาที
- 'Wherever You Will Go' (2009) กำกับโดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง /
5 นาที
- Ma vie incomplet et inacheveee' (2007) กำกับโดย รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชา
โชค / 4 นาที (animation)
- 'ชุติมา' (2007) กำกับโดย รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค / 16 นาที (สร้างจากบทกวีรางวัลซีไรต์
ของ มนตรี ศรียงค์)
- หนังสั้นและ MV โดยไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ
- วันที่ดวงจันทร์เข้ามาใกล้โลกมากที่สุด / 9 นาที โดย วีระพงษ์ วิมุกตะลพ
- พิภพบรรฑูรย์ / 25 นาที โดย อุทิศ เหมะมูล
- VCD คำถาม โดย ฌัฏฐ์ธร กังวานไกล
- เคี้ยง + แค้น โดย สนธยา ทรัพย์เย็น
- MV สว่างไป สว่างมา โดย สนธยา ทรัพย์เย็น
- คืนที่ 6 โดย สนธยา ทรัพย์เย็น
และเรื่องอื่น ๆ ที่ยังไม่ยืนยันในขณะนี้
วันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
เปิดตัวหนังสือ นารีนิยาม + ฉายหนังผู้หญิง
bookvirus talk+ film screening
Chez Lodin +Toot Yung Gallery ร่วมกับดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (Filmvirus) เชิญทุกท่านร่วมงาน เปิดตัวหนังสือ รวมเรื่องสั้น Bookvirus ฟุ้ง 07 :นารีนิยาม
ร่วมพูดคุยกับ สนธยา ทรัพย์เย็น บรรณาธิการผู้คัดสรรเรื่อง และทีมนักแปล พร้อม ชมหนังสั้นโปรแกรม Cinema Feminine
ที่ Chez Lodin + Toot Yung Gallery 19 ถนนประชาธิปไตย (หลังสะพานวันชาติ) กรุงเทพ
8 สิงหาคม 2553
14.00-15.30
เปิดตัวหนังสือ นารีนิยาม (Bookvirus ฟุ้ง 07 – เปิดม่านเรื่องสั้นแปลจากนักเขียนหญิงนานาชาติ) บรรณาธิการ และคัดสรรเรื่องสั้นโดย สนธยา ทรัพย์เย็น
“นักว่ายน้ำ” (มิแรนดา จูลาย – เขียน) แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร
“เกมที่ค้างคา” (โกลี ทารากี – เขียน) แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง
…“ม้าน้ำ” (ฮิโรมิ คาวาคามิ – เขียน) แปลโดย โดยมัทนา จาตุรแสงไพโรจน์
“ลอกลายกุหลาบ” (แคลริซ ลิสเปคเตอร์ – เขียน) แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์
“จบให้สวย” (มาร์กาเร็ท แอ็ตวูด – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
อ่านบทกวีโดยนักเขียนหญิง
บรรณาธิการและคณะผู้แปลร่วมสนทนากับผู้ฟัง
ฉายหนังสั้น นิยามนารี 1
Agnes Varda – Happiness? The People of Fontenay Response + Bonheur : Proper Name or Concept / ฝรั่งเศส 8 min
Naomi Kawase – See Heaven (1995) / ญี่ปุ่น10 min
Lucrecia Martel – Rey Muerto (1995) / อาร์เจนตินา12 min
วสุนันท์ หุตเวช เธอชื่อพระจันทร์ (2010) 8 min / ไทย** (กำลังติดต่อผู้กำกับ)
Marina De Van – La Promenade (2007) / ฝรั่งเศส 35 min
ฉายหนังสั้น นิยามนารี 2
Magaret tait – A Portrait of Ga (1952) / อังกฤษ 5 min
Helke Sanders – Subjectivity (1966) /เยอรมัน 5 min
Su Friedrich – Gently Down the Stream (1981)/อเมริกัน 11 min
Christelle Lhereux All The Mountains Are Look ALike (2008)/ฝรั่งเศส 12 min
Sara Driver – You are not i (1981) /อเมริกา 50 mins (วีดีโอ)
ร่วมพูดคุยกับคุณ ไกรวุฒิ จุลพงศธร และวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา หลังหนังจบครับ
สอบถามเพิ่มเติมที่
http://www.facebook.com/event.php?eid=148142668535013#!/group.php?gid=125187560852695
แผนที่
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjpFqi_rNtX6ek2nPCK0gkEte1WCVmfb32E9AytplMzWas8RyglpYI9-PR0klNwrW3ChJpYgez9f-mpD305ZrqdLY_DfjTXTKi57FV3PmMYheQMCMdpo6l2FOEf2r4EgKVTnfYet7Cfemo/s1600/map.gif
วันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
เปิดม่านบรรณาธิการ เรื่องสั้นแปล “นารีนิยาม” Bookvirus ฟุ้ง 07
“นารีนิยาม” Bookvirus ฟุ้ง 07 - เปิดม่านเรื่องสั้นแปลจากนักเขียนหญิงนานาชาติ
บรรณาธิการ และคัดสรรเรื่องสั้นโดย สนธยา ทรัพย์เย็น
นั่งนึกนอนนึก เอาไงดีว้า ไอ้เราก็ค่ายหนังสือเล็ก ๆ ครั้นจะรอให้ช้างมาโปรโมท “นารีนิยาม” ก็คงรอเก้อ ครั้นจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรก็ชวนรู้สึกท้อแท้ใจ หมดเรี่ยวหมดแรง เพราะทุ่มเททำกันออกมากว่าจะเป็นหนังสือแต่ละเล่มนี่เหนื่อยจัง แล้วพอหนังสือออกมาแล้วก็ยิ่งเหนื่อยกว่า คิดไปต่างๆ นานา จะมีคนอ่านไหม หนังสือจะขายได้หรือเปล่า
เลยคิดว่าน่าจะสัมภาษณ์อะไรคุณบอกอดีกว่า ไม่เชียร์กันเองแล้วจะรอเจ๊ดันที่ไหนได้อีก
ต้องขอปูความเป็นมาสักหน่อยนึง อันที่จริง ต้นทางของ บุ๊คไวรัส - หนังสือวรรณกรรมและเรื่องแปลก็เริ่มมาจาก “ฟิล์มไวรัส” น่ะแหละ เพราะตั้งแต่ ฟิล์มไวรัส เล่ม 1 (ปี 2541) ก็มีเรื่องสั้นแปลเรื่องแรก คือเรื่อง “ขอบฟ้าเหตุการณ์” ของ มิเคลันเจโล อันโตนีโอนี่ (ผู้กำกับ Blow-Up, The Eclipse, La Notte) ที่โด่งดัง จากนั้นใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 3 (มีนาคม 2549) ก็มีเรื่อง “ศิลปินชีวิตจริง” ของ ไฆเม่ มันริเก้ และใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 4 ก็มี “หนัง: ประดิษฐกรรมปีศาจ” (ตุลาคม 2549) ที่แต่งโดย ธีโอดอร์ รอสแซ็ค ผู้แต่งนิยายทรงพลังเรื่อง Flicker และนับจากบุ๊คไวรัส เล่มแรก (กันยายน 2547) ถึงตอนนี้บุ๊คไวรัสก็มีพี่น้องร่วมกัน 7 เล่มแล้ว โดยมี “นารีนิยาม” เป็นน้องคนสุดท้อง
ทำไมถึงตั้งชื่อว่า “นารีนิยาม”
เรามีนิยายผู้หญิงชื่อ ปริศนา เจ้าสาวของอานนท์ แต่จริงๆ แล้วปริศนาเป็นคนแบบไหน เจ้าสาวของอานนท์นั้นเป็นคนยังไง คนที่ชื่อปริศนามันก็อาจจะเป็นแค่ปริศนา แล้วคนที่เป็นเจ้าสาวของอานนท์ เธอก็อาจมีตัวตนเป็นแค่เจ้าสาวของอานนท์... เลยอยากจะรู้ว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะรู้จักตัวผู้หญิงให้มากขึ้นผ่านมุมมองของผู้หญิงเอง แต่เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามันถูกต้องแค่ไหน เราก็เลยใช้คำว่า “นิยามความเป็นผู้หญิง” เพราะคนเราชอบให้คำนิยามคนอื่น แต่ไม่ชอบนิยามตัวเอง
ก่อนจะเป็น “ นารีนิยาม” มีคำอื่นไหม
ตอนแรกตั้งใจจะตั้งชื่อว่า “ขวัญตายาหยี” เพราะเรื่องสั้นมิแรนดา จูลาย อีกเรื่องที่เล็งไว้ (แต่ใน “นารีนิยาม” เปลี่ยนแปลอีกเรื่องของเธอแทน) พอมาตอนเตรียมเรื่องสั้นในมือ รู้สึกว่ามันยังไม่เหมาะกับชื่อนี้
มีอะไรพิเศษหรือเปล่า เพราะรู้สึกว่าบุ๊คไวรัสทำเรื่องผู้หญิงสองครั้งแล้ว
เพราะรู้สึกว่าบุ๊คไวรัส เล่ม 5 นางเพลิง เป็นผู้หญิงหม่นๆ ค่อนไปทาง feel bad ก็เลยอยากทำให้หลากหลายขึ้น มีมุมน่ารักๆ มีความเป็นเมโลดรามาหน่อย ๆ มีผู้หญิงจืดๆ มีผู้หญิงเปรี้ยวๆ หรือแนวผู้หญิงกระจุ๋มกระจิ๋ม เพื่อให้ภาพพจน์กับนิยามความเป็นผู้หญิงหลากหลายมากขึ้น ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการโรแมนติกสักปานนั้น (เหอ เหอ...)
รู้สึกลำบากใจไหมในการเลือกเรื่องสั้นผู้หญิง แบบว่ารักพี่สงสารน้อง
ในฐานะที่เป็นคนโรแมนติก แต่หลายใจ จึงเสนอคำตอบเดียว และคำตอบสุดท้ายว่า อย่ากระนั้นเลยถ้ารักพี่เสียดายน้องก็ต้องรวบนางไว้ทั้งสอง นี้คือเหตุที่ทำไมเล่มนี้ถึงอ้วนขึ้นกว่าเดิมเยอะ และออกช้ากว่าที่ตั้งใจไว้แต่แรกอีกตั้งหาก ทั้งนี้ที่ออกเลทมาก ๆ คงต้องโทษคุณ แดนอรัญ ด้วย
แล้วรวบตัว คุณแดนอรัญ แสงทอง ได้อย่างไร
เราเคยพิมพ์งานของเขาตั้งแต่ปี 2547 ในบุ๊คไวรัส เล่ม 2 แล้ว ตามด้วยเล่ม 3, และเล่ม 6 (เดอะ เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ – โอเพ่นบุ๊คส์ จัดพิมพ์) คือมีทั้งเรื่องที่เขาแปล และเรื่องแต่งเอง วิธีการจับเสือก็ไม่ยาก แทนที่จะเดินตามไปในป่า เราก็รออยู่หน้าถ้ำ เพราะยังไงเสือก็ต้องกลับถ้ำ แล้วเสือก็พูดภาษาคนรู้เรื่อง ไม่ยากหรือดุดันอย่างในเรื่อง “เจ้าการะเกด”
แล้วนักแปลคนอื่นๆ ล่ะ
มาจากเวทีนางงามหลายแห่ง คัดมาจากตัวเป้งๆ อุดมด้วยกลิ่มสาปสางดุดัน รับประกันคุณภาพงานแปล ชนิดทำใจไม่ลำบาก
ไปเจอเรื่องสั้นแปลกๆ เหล่านี้จากไหน
ที่บ้าน เก็บหนังสือนิยาย เรื่องสั้นไว้เยอะ มีเป็นพันเล่ม อ่านไม่หมด แต่ว่าที่เอามาแปลๆ บางเรื่องก็อ่านมาหลายปีแล้ว มีบางเรื่องซีร็อกซ์มาจากห้องสมุด คละๆ กันกับหนังสือที่บ้าน
ใครเป็นคนตั้งชื่อเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง โดยส่วนตัวรู้สึกติดหู ง่ายๆ แต่สะดุดตา
นักว่ายน้ำ เกมที่ค้างคา ลอกลายกุหลาบ ม้าน้ำ จบให้สวย
เล่มนี้คนแปลเขาตั้งเองล้วนๆ แต่เล่มก่อนๆ ผมตั้งเองเกือบทั้งหมด
อ่าน “นักว่ายน้ำ” ขำมาก ขำกับไอเดียที่ส่งรับระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน
เรื่องนี้ออกแนวขำๆ กระจุ๋มกระจิ๋มอย่างที่บอก คนที่เคยดูหนังของ มิแรนด้า จูลาย เรื่อง Me and You and Everyone We Know คงจะเห็นหน้าเธอ ตัวเธอลอยมา ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ภาพพจน์ของผู้หญิงที่มีความหมกมุ่นในมุมเล็ก ๆ กระทัดรัดในแบบของผู้หญิงเหมียว ๆ แมว ๆ ที่ชอบคลอเคลีย แล้วก็เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ประหลาด ๆ เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องสั้นที่ไม่เน้นเนื้อเรื่อง แต่จะเน้นมุมมองเฉพาะ ซึ่งเธอทำตรงนี้เก่ง ตอนแรกก็มีอีกเรื่องหนึ่งของเธอที่ผมอยากจะให้แปล เรื่องนั้นเธอก็พูดถึงผู้ชายที่เธอแอบหลงรัก แล้วก็ฟุ้งฝันเป็นตุเป็นตะไปต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งถ้าเรียกว่าเป็นความคิกคุอาโนเนะ ก็เป็นยี่ห้อแบบที่ไม่มีใครซ้ำเธอได้ แบบที่แปะยี่ห้อเธอเต็มหรา
รู้สึกว่าตัวละครเอกใน “ม้าน้ำ” ค่อนข้างประหลาด เนื้อเรื่องทำนองนี้ของไทยมีไหม
ของไทยคงมีแบบพวกพระอภัยมณี สินสมุทร แต่จุดประสงค์ในการเขียนมันต่างกันมากอยู่แล้ว เพราะวิธีคิดแบบแฟนตาซีหรือเมจิคเรียลลิสม์ของฝรั่ง ของญี่ปุ่น ของไทย หรือตัวละครของ ฟรานซ์ คาฟก้า มันคิดต่างกันอย่างสิ้นเชิง ของญี่ปุ่นจะมีประเด็นเรื่องผู้หญิง เป็นภาพอุปมาอุปไมยเชิงสัญลักษณ์ที่เรียบง่าย แต่ตัวแนวคิดลักษณะนี้คงไม่ใช่ของใหม่ แต่ว่าตัวนักเขียน ฮิโรมิ คาวาคามิ เล่าเรื่องได้เหมาะกับสไตล์ของเธอดี ที่ชอบมากเป็นพิเศษ ขำทุกทีเวลานึกถึง ตรงที่คนแปลใช้คำว่า “ของแบบนั้น”
โดยส่วนตัวของคนสัมภาษณ์ที่เดินทางบ่อย รู้สึกชินกับนิสัย (ด้านลบ) ของผู้คนในเรื่อง “เกมที่ค้างคา” มาก ทำให้รู้สึกว่าโอ้ว ทำไมคนแบบนี้มีทั่วเลยนะ
ความไม่มีระเบียบวุ่นวายพวกนั้น เราคนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่พอเรื่องนำไปเรื่อยๆ มันก็นำไปสู่ความจริงใกล้ตัวที่ทุกคนสัมผัสได้ ว่าชีวิตมันก็แค่นี้แหละ คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หน้าตาอาจดูจืด ๆ เหมือนไม่มีสีสันเท่าไร แต่มันเป็นความจริงที่ “จริงจนจำ”
เห็นใจและเข้าใจผู้หญิงคนนั้นใน “ลอกลายกุหลาบ” ชีวิตมันไม่ง่ายอย่างคิด
คนอ่านเรื่องนี้ถ้าไม่ชอบแนวนี้ก็คงปวดประสาทไปเลย เหมือนเราดูหนังของ เอริค โรห์แมร์ หรือจอห์น แคสซาเวททีส หรือ อิงมาร์ เบิร์กแมน คือคนอ่านหลายๆ คน อาจบอกว่ามันอะไรกันหนักกันหนา ไอ้พวกนางเอกจิตตกพวกนี้ ทำไมกูต้องมารับรู้เรื่องของพวกมึงด้วยฟะ แม้แต่ผู้หญิงเองก็คงมีหลายคน ไม่ใช่เฉพาะผู้ชายนะ ที่คงไม่อยากจะรับรู้เรื่องที่ดูเหมือนจุกจิกรกประสาททำนองนี้ แต่ถ้าใครที่ชอบนักเขียนที่จิตป่วยๆ แบบ เจเน็ท เฟรม ก็น่าจะชอบ (หรือเรื่องเกาหลี “ช้างคืนเรือน” ของ โจ คียุง รัน ใน นางเพลิง – บุ๊คไวรัส 05) ซึ่งคงมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ขนาดตัว บ.ก. เลือกเรื่องนี้มาเองยังอดคิดไม่ได้ว่า หาเรื่องปวดกะบาลแท้ ๆ สารภาพว่าปวดหัวกับอีนางนี่ที่สุดในบรรดาเรื่องสั้นทั้งหมดที่เคยทำมา ตอนขัดเกลาสำนวนนี่แทบคลั่ง
“จบให้สวย” รู้สึกว่าอ่านง่าย สบายๆ ออกจะขำ ๆ ต่างจากเรื่องอื่นๆ
เรื่องนี้หงุดหงิดมากเลย ตอนแรกตั้งใจว่าจะไม่เอาลง ที่หนังสือออกช้าเพราะว่า คุณ แดนอรัญ แกบอกว่าอยากร่วมแจมกับ บุ๊คไวรัส ด้วยเรื่องหนึ่ง เราก็เลยรอ แล้วยิ่งแกบอกว่าเป็นมาร์กาเร็ท แอ็ตวูด ด้วยก็ดี กะว่าจะได้อ่านเรื่องเข้มข้น แต่พอแกแปลเสร็จส่งมา อ้าว ไหงงั้น คิดว่าเรื่องนี้คงเป็นเรื่องเบาๆ ของมาร์กาเร็ท แอ็ตวูด ที่เหมาะกับการปิดท้ายเล่ม เพราะว่าเพิ่งโหดกับคนอ่านจาก “ลอกลายกุหลาบ” ไป ก็เลยน่าจะมีของขวัญให้คนอ่านเป็นการตอบแทนความอดทนที่มอบให้บุ๊คไวรัส
นอกจากบุ๊คไวรัสเล่มนี้ยังมีหนังสือใหม่ในเครือฟิล์มไวรัสเล่มอื่นอีกไหม
มีเล่ม “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” ที่ต้นฉบับเสร็จตั้งแต่ก่อนงานหนังสือเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นับถึงตอนนี้ก็เกือบครบรอบหนึ่งปีพอดี ก็น่าจะได้ฤกษ์วางแผงสักที (ถือเป็นผลบุญจากลุงบุญมีล้วนๆ) ใครที่สนใจว่าจะทำหนังอินดี้แล้วต้องไปหาเงินทุนต่างประเทศจากที่ไหน ก็ให้อ่านได้ในบทสัมภาษณ์พวกนี้เลย มีครบ ตั้งแต่ อภิชาติพงศ์, โสฬส, อโนชา, อาทิตย์, อุรุพงษ์, พิมผกา, ศิวโรจณ์, จักรวาล และอีกหลายๆ คน เสร็จจากเล่มนี้คงต้องพักก่อน อย่างที่เคยบอกว่าการทำหนังสือไม่สนุกเลย โดยเฉพาะถ้าต้องลงทุนเองขายเอง
ตัวละครไหนในเล่มที่สนธยาอ่านแล้วรู้สึกอิน
ตัวละครจิตตกแบบ “ลอกลายกุหลาบ” ทุกคนอาจจะเคยเป็นมากบ้างน้อยบ้าง แต่จะบอกว่าเป็นเราเหรอก็ไม่ใช่ เพราะถ้าเลือกได้ ก็ไม่มีใครอยากเป็นอย่างนั้นหรอก
ระหว่างเขียนหนังสือกับทำหนังสือชอบอย่างไหนมากกว่า
การทำหนังสือกับการเขียนหนังสือเป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก เพราะมีปัญหาทางการผลิตที่ต้องแก้ไขตรวจทานกว่าจะเป็นเล่มหนังสือออกมา ออกมาเสร็จก็ยังมีอะไรที่ผิดพลาดให้กลุ้มใจได้อยู่ดี ส่วนการเขียนหนังสือบางคนอาจจะคิดว่าเป็นความสุขที่ได้แสดงออก ได้พูดในเรื่องต่างๆ แต่ความรู้สึกแบบนั้นไม่ใช่กับผมแน่ๆ ผมไม่ชอบคำอธิบาย และไม่ชอบเขียนอธิบายตัวเอง ขนาดพูดยังเบื่อเลย แต่การพูดมันง่ายกว่า เพราะมันใช้เวลาน้อยกว่า ขนาดจะต้องกรอก ต้องเซ็นเอกสาร หรือส่งอีเมล์ ยังรู้สึกเป็นภาระเลย
ตัวจริงของสนธยาหวานบ้างไหม
หวานอมขมกลืนผสมปนเปกันไป ผสมอารมณ์ทุกแบบเหมือนคนอื่นๆ โดยรวมชีวิตก็โอเคดีถ้าไม่ต้องมานั่งทำหนังสือเอง แต่ที่เป็นทุกข์ เพราะว่าขี้เกียจทำหนังสือ แต่ดันอยากมีหนังสือของนักเขียนที่ตัวเองชอบๆ ทำพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม แต่ถ้าพูดไปนะ อยากทำนิยายแปลมากกว่าเรื่องสั้น พอเวลาชีวิตของเรายิ่งสั้นลงก็อยากทำอะไรที่อยากทำที่สุด เรื่องสั้นบางทีก็เหมือนกับหนังสั้น หาเรื่องที่มันอิ่มเต็มได้ยาก
นอกจากทำหนังสือแล้ว มีโปรเจ็กอื่นๆ อีกไหม
ตอนนี้ยังมีหนังสือค้างอยู่สองเล่มคือ หนังสือนิยายขนาดสั้นของ มาร์เกอริต ดูราส์ กับหนังสือหนังของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้ เล่มแรกติดต่อลิขสิทธิ์อยู่ ส่วนอีกเล่มไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการ “อ่าน” เขาก็แปลเสร็จตั้งนานเป็นสิบปีแล้ว แต่ว่าดูไปแล้ว ถ้าพิมพ์จริงอนาคตคงริบหรี่ ตอนนี้เรื่องเฉพาะหน้าก็มีแต่เรื่องทำหนัง มีสารพัดโปรเจ็กท์ แต่ดันติดตรงขี้เกียจเขียนบทด้วยนี่สิ
ไอ้เรื่องทำหนังสือนี่ เรื่องทุนเรื่องกำไรมันแทบไม่ได้คืน อันนั้นเข้าใจได้ แต่ที่น่าแปลกก็คือคนที่อ่านทั้งฟิล์มไวรัสและบุ๊คไวรัส ไม่เคยส่งเสียงมาให้กำลังใจเราบ้างสักนิด คอมเมนท์หรือวิจารณ์งานก็ได้ เราไม่ได้คิดว่าหนังสือเราดีเด่เสียเหลือเกิน แต่มันเป็นแบบนี้ตลอด ต้องเอออวยตัวเองทั้งปีทั้งชาติ แทบไม่เคยรู้เลยว่าชอบไม่ชอบเรื่องไหน
อยากฝากอะไรถึงคนอ่านบ้างไหม
เรื่องสั้นในบุ๊คไวรัสที่ผมคัดมา แม้ว่าจะมีชื่อเสียงในต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ว่าในเมืองไทยแทบจะเรียกได้ว่าค่อนข้างโนเนมเกือบทุกคน ยังไงอยากให้ลองเปิดใจอ่านนักเขียนชื่ออื่นๆ ที่ไม่คุ้นหูดูบ้าง เพราะว่านักเขียนที่มีฝีมือจริงๆ ยังมีที่หลงหูหลงตาอีกเยอะ เหมือนกับหนังนอกกระแสสมัยก่อน สมัยที่ยังไม่มี ดีวีดี ยังไม่มีดาวน์โหลด แต่พอหลายคนได้ดูก็ประทับใจ ก็ถามว่าหนังแบบนี้มีด้วยเหรอ นักเขียนแบบนี้มีด้วยเหรอ ทำไมเกิดมาไม่เคยได้ยินเลย แล้วหนังสือบุ๊คไวรัส เล่มเล็ก ๆ ส่วนใหญ่เราก็พิมพ์แค่ร้อยเล่ม สองร้อยเล่มเท่านั้นเอง พิมพ์ยอดแค่นี้ก็คงหวังกำไรหรือทุนคืนไม่ได้แน่ ๆ แต่จะให้พิมพ์มากกว่านี้ก็ไม่มีตังค์หรอกครับ
******************************************************************************
เหล่านี้คือรายละเอียดของบุ๊คไวรัส เล่ม 1 – เล่ม 7 ค่ะ
* * * หาซื้อ บุ๊คไวรัส บางเล่มได้ที่ร้านหนังสือ คิโนคูนิยะ สาขาห้างพารากอน หรือ ห้างอิเซตัน (ราชประสงค์) แต่เฉพาะเล่ม “นารีนิยาม” เพิ่มการวางจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือจุฬาทุกสาขาทั้งกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งร้าน ก็องดิด (อยู่ตรงสี่แยกคอกวัว หลังอนุสรณ์สถาน ถ. ราชดำเนิน ประมาณ 200 เมตร ริมถนนตะนาว) ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ค่ะ ติดต่อสอบถามที่ email : filmvirus@gmail.com * * *
ปี 2547
บุ๊คไวรัส เล่ม 1 : A-Z หนังวรรณกรรม (รวม 262 หนังนานาชาติ จากนักเขียน 129 คน เขียนคำนิยมโดยสองชาติ คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)
ปี 2547
บุ๊คไวรัส เล่ม 2 (รวมเรื่องสั้นทั้งจากนักเขียนไทยและเทศ)
เรื่องสั้นไทยประกอบด้วย
“จินตนาการไร้บรรทัด” : Visual Art Novel โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
“ในท่ามกลางแสงแห่งเดือนอันฉายฉาน” โดย แดนอรัญ แสงทอง
“ความตายกับศิลปิน” โดย อุทิศ เหมะมูล
“สุมลกับสุมลรัตน์” โดย เอื้อ อัญชลี
“ความเงียบแห่งจักรวาล” โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์
และเรื่องสั้นต่างประเทศ
“โทรเลขสองฉบับ” (มิเกลอันเจโล่ อันโตนีโอนี่- เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“พื้นที่ทางใจ” (แซม เชพพาร์ด - เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“แดนใต้” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“กาลอวสาน” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“ เกม” (โดนัลด์ บาร์เทลมี่ – เขียน) แปลโดย จิตติ พัวสุทธิ
“หูล้างเลือด” (อีแธน โคน – เขียน) แปลโดย ชนิดา ศักดิ์สิริสัมพันธ์
“บทสัมภาษณ์ ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส โดย อามาเลีย บาริลี่” แปลโดย กรกิจ ดิษฐาน
และอื่นๆ
ปี 2552
บุ๊คไวรัส เล่ม 3 : กาจับโลง (2 เรื่องสั้นแปลจากนักเขียนระดับโลก)
“เลือดสามหยาด” (Sadeq Hedayat - เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“สารานุกรมชีวิตผู้ตาย” (Danilo Kis – เขียน) แปลโดย ธิติยา ชีรานนท์
บุ๊คไวรัส เล่ม 4 : สนธิสัญญาอสูร (3 เรื่องสั้นแปลที่สังสรรค์โลกมืดกับความขันขื่น)
ประเดิมเรื่องสั้นจาก Felisberto Hernandez (ครูใหญ่ของนักเขียนอย่าง Gabriel Garcia Marquez, Julio Cortazar และ Italo Calvino)
“จรลีร่ำไห้” (Felisberto Hernandez – เขียน) แปลโดย ชัยวัฒน์ ทองรัตน์
“บุญผ่อนบาป” (Slawomir Mrozek – เขียน) แปลโดย ชาญชนะ หอมทรัพย์
“หน้าต่างกลางไพร” (Jonathan Baumbach – เขียน) แปลโดย ณิชา อู่ดาราศักดิ์
ปี 2552
รวมเรื่องสั้นแปลสาวแสบเอเชียปะทะยุโรป
บาซูก้าของจูเลีย ผลงานของ แอนนา คาแวน (อังกฤษ)
ภูเขาอุกกาบาต ของ ฉาน เสว่ (จีน)
ช้างคืนเรือน ของ โจ คียุง รัน (เกาหลี)
ปี 2553
บุ๊คไวรัส เล่ม 6 : เดอะ เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ (ฉบับครบรอบ 100 ปี)
Algernon Blackwood – เขียน
แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง (ที่เจ้าตัวออกปากว่าเป็นงานแปลที่โหดหินที่สุดในชีวิต)
และน้องเล็กสุดท้อง
บุ๊คไวรัส เล่ม 7 นารีนิยาม : (เบิกม่านเรื่องสั้นผู้หญิงเกินนิยาม)
“นักว่ายน้ำ” (มิแรนดา จูลาย – เขียน) แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร
“เกมที่ค้างคา” (โกลี ทารากี - เขียน) แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง
“ม้าน้ำ” (ฮิโรมิ คาวาคามิ – เขียน) แปลโดย โดยมัทนา จาตุรแสงไพโรจน์
“ลอกลายกุหลาบ” (แคลริซ ลิสเปคเตอร์ – เขียน) แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์
“จบให้สวย” (มาร์กาเร็ท แอ็ตวูด – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 12 อุกกาบาต
วันนี้มีเรื่องแปลก กล่าวคือ ฮาฟีสไม่เล่นซน แต่เก็บของเล่น จัดเรียงของเล่นอย่างเป็นระเบียบ เก็บกวาดเศษขยะในห้อง ฯลฯ
อูมี – อาบ๊ะ เกิดอะไรขึ้น ทำไมวันนี้ฮาฟีสเป็นเด็กดีผิดปกติ
อาบ๊ะ – อ๋อ ! เมื่อเช้าดูสารคดีเกี่ยวกับอุกกาบาต ฮาฟีสเลยสงสัยว่าอุกกาบาตคืออะไร อาบ๊ะ เลยอธิบายว่า อุกกาบาตคือลูกไฟดวงใหญ่ที่หล่นมาจากท้องฟ้า ตกลงมาตรงไหนไฟก็ลุกตรงนั้น
ฮาฟีส - บ๊ะ อุกกาบาต ยอ ยาโตะ อาตะฮ์ ปาลอ ออรัง กือเดาะ
(บ๊ะ แล้วอุกกาบาตมันตกลงบนหัวคนหรือเปล่าล่ะ)
อาบ๊ะ - อุกกาบาต ยอ เตาะ ยาโตะ อาตะฮ์ ปาลอ บูเดาะ ยูรุฮ
(อุกกาบาต มันไม่ตกใส่หัวเด็กดีหรอก)
ฮาฟีส - ฮาฟีส เนาะ ยาดี บูเดาะ ยูรุฮ ฮาฟีส ตาโกะ อุกกาบาต ยาโตะ อาตะฮ์ ปาลอ
(ฮาฟีส จะเป็นเด็กดี ฮาฟีสกลัวอุกกาบาตตกใส่หัว)
และนี่คือที่มาของการเป็นเด็กดี (เพียง 1 วัน) ของฮาฟีส
ภาษาไทย = = = = = => ภาษามลายู
ยอ = = = = = => มัน (ถ้าพูดถึงคน หมายถึง เขา)
ยาโตะ = = = = = => ตก
อาตะฮ์ = = = = = => บน
ปาลอ = = = = = => หัว
ออรัง = = = = = => คน
กือเดาะ = = = = = => หรือไม่ / หรือเปล่า
อาบ๊ะ = = = = = => พ่อ (หรือจะเรียก อาเยาะ, แว, เป๊าะ ก็ได้)
เตาะ = = = = = => ไม่
บูเดาะ = = = = = => เด็ก
ยูรุฮ = = = = = => ดี
ยาดี = = = = = => เป็น
ตาโกะ = = = = = => กลัว
อูมี = = = = = => แม่ (หรือจะเรียก เจะ, เม๊าะ, มาม่า หรือ แว ก็ได้)
.....................................................
หมายเหตุ : ติดตามอ่าน เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอนที่ผ่านๆ มาได้ที่นี่ค่ะ
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 2 อาหารอร้อยอร่อย
http://ninamori.blogspot.com/2007/08/blog-post_19.html
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 3 วันกียามัต (วันสิ้นโลก)http://ninamori.blogspot.com/2007/09/3.html
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 4 อยู่เวรยาม http://ninamori.blogspot.com/2007/09/4_24.html
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 5 จอมวางแผน http://ninamori.blogspot.com/2007/09/5.html
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 6 กวนโอ๊ย http://ninamori.blogspot.com/2007/11/6.html
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 7 แค้นสุดๆ http://ninamori.blogspot.com/2008/06/7.html
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 8 เหยียบโลก http://ninamori.blogspot.com/2008/06/8.html
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 9 ห้องพิเศษ http://ninamori.blogspot.com/2009/01/9.html
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 10 รู้จักหน้าที่มั๊ย ? http://ninamori.blogspot.com/2009/05/10.html
เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 11 ย้อนรอย http://ninamori.blogspot.com/2009/06/11.html
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
นารีนิยาม : Bookvirus ฟุ้ง 07 เบิกม่านเรื่องสั้นผู้หญิงเกินนิยาม
พิมพ์เสร็จแล้วจ้า
4 บวก 1 เพิ่มเรื่องสั้นแปลล่าสุดของ แดนอรัญ แสงทอง
ทว่าซ่อนความหวานอมเปรี้ยว สุขๆ ดิบๆ เด็ดสาระตี่ ปะทะสายลมแผ่วเบา แสงแดดอ่อนๆ ฝนตกโปรยปราย หรือแม้กระทั่งฟ้าผ่าเปรี้ยง แต่เราก็เป็นมิตรกัน เราจะดีดีต่อกันนะ
บุ๊คไวรัสน้องใหม่โฉมงามเก๋ไก๋เรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่นๆ นี้ออกแบบโดยสาวผู้น่ารักจากแดนสุไหงโก-ลก เธอไม่ได้เรียนวาดรูป แต่ชอบวาดรูป โดยเฉพาะเวลาที่เธอรู้สึกว่าโลกกำลังจะแตก
เหล่านี้คือเรื่องสั้นที่เดอะแก๊งค์นารีนิยามเขียนจ้า
1. นักว่ายน้ำ จากฝรั่งเศส มิแรนดา จูลาย แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร
2. เกมที่ค้างคา จากอิหร่าน โกลี ทารากี แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง
3. ม้าน้ำ จากญี่ปุ่น ฮิโรมิ คาวาคามิ แปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น โดยมัทนา จาตุรแสงไพโรจน์
4. ลอกลายกุหลาบ จากบราซิล แคลริซ ลิสเปคเตอร์ แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์
5. จบให้สวย จากแคนาดา มาร์กาเร็ท แอ็ตวูด เรื่องสั้นแนวกุ๊กกิ๊กที่ผู้แปลบอกว่าแปลไปหัวเราะคนเดียวคิคิ แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
จำหน่ายที่ร้านคิโนคูนิยะ สาขาสยามพารากอน และ อิเซตัน (หนังสือจะขึ้นชั้นช่วงบ่ายๆ จันทร์ ที่ 19 ก.ค. 53 จ้า หรือโทร. 02- 6109500) ราคา 130 บาท ความหนา 152 หน้า
- ขอบคุณล่วงหน้าที่อุดหนุนนะคะ -
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
บรรยายพิเศษ Woodcut : That Very Moment ปัจจุบันขณะนั้น โดย ผศ.สุรชัย เอกพลากร วันที่ 12 ก.ค. 53 เวลา 13.30 – 16.00 น.
by Ninamori
โปรแกรมพิเศษยกกำลังสองจ้า
หอศิลปวิทยนิทรรศน์ขอเชิญท่านที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการศึกษาสำหรับนิทรรศการ "ปัจจุบันขณะนั้น" บรรยายโดยศิลปิน ผศ. สุรชัย เอกพลากร ที่ท่านได้นำผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ซึ่งถือเป็นงานที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมากที่สุดมาจัดแสดง ในการบรรยายครั้งนี้จะพูดถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจในการทำงานภาพพิมพ์แกะไม้ชุดใหม่นี้ว่าเขามีเทคนิคอย่างไรถึงได้ภาพรอยฝีแปรงอันอ่อนช้อยและลื่นไหลราวกับภาพจิตรกรรม
บรรยายวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2553 เวลา 13.30-16.00 น. (บรรยายเป็นภาษาไทย) ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.สุรชัย เอกพลากร จบปริญญาตรีสาขาการสอนวิชาเฉพาะ (ศิลปศึกษา) จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านภาพพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยศิลปะทามะ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นกลับมาทำงานเป็นอาจารย์สอนศิลปะ อยู่ที่ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 มาจนถึงปัจจุบัน
ผลงานภาพพิมพ์ของ ผศ. สุรชัย เอกพลากร มีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายเทคนิควิธีการ แต่เทคนิคที่เป็นเฉพาะและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมากที่สุดก็คือ ภาพพิมพ์ แกะไม้จ้า
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 081-629-0457 ติดต่อคุณ สิริวัฒน์ โพธิ์กระเจน (เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์) หรืออีเมล์ที่ siriwatpokrajen@yahoo.com, info.artcenterchula@gmail.com
หมายเหตุ : อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ นิทรรศการภาพพิมพ์ แกะไม้ โดย ผศ. สุรชัย เอกพลากร Woodcut : That Very Moment ปัจจุบันขณะนั้นได้ที่ http://ninamori.blogspot.com/2010/07/woodcut.html
วันพุธที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
นิทรรศการภาพพิมพ์ แกะไม้ โดย ผศ. สุรชัย เอกพลากร Woodcut : That Very Moment ปัจจุบันขณะนั้น
พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนพ้องน้องพี่ที่รักทุกท่านโปรดทราบ....
ี
ณ ปัจจุบันขณะนี้มีนิทรรศการภาพพิมพ์แกะไม้ (Woodcut) โดย ผศ. สุรชัย เอกพลากร ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเจ้าพ่อแห่ง woodcut กำลังมีจัดแสดงที่ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทำการ จันทร์-ศุกร์: 9.00-19.00 น. เสาร์: 9.00-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เข้าชมฟรีจ้า
แล้วศิลปินเป็นใครมาจากไหนนะ :
สุรชัย เอกพลากร จบปริญญาตรีสาขาการสอนวิชาเฉพาะ (ศิลปศึกษา) จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านภาพพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยศิลปะทามะ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นกลับมาทำงานเป็นอาจารย์สอนศิลปะ อยู่ที่ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 มาจนถึงปัจจุบัน
ในวันเปิดงาน 1 ก.ค.53 ที่ผ่านมา แม้ฝนจะตกโปรยปราย แต่ผู้คนต่างมาร่วมยินดีคับคั่ง มีทั้งประชาชนทั่วไป เด็ก นักศึกษา และนักข่าวจากไทยพีบีเอส
เมื่อเข้าไปในห้องที่จัดแสดงรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่นึกว่าจะได้เห็นภาพพิมพ์แกะไม้ขนาดใหญ่ (มาก) ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่าศิลปะแบบนี้ไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ เพราะต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์งานมากกว่าภาพทั่วไปหลายเท่า ต้องอาศัยจังหวะ ท่าที และการลงน้ำหนักที่เหมาะเจาะ จิตต้องนิ่งใจต้องสงบมากๆ ทั้งทักษะและฝีมือขั้นเทพถึงจะได้งานอย่างที่เห็นนี้ จากแผ่นไม้ธรรมดาๆ เกิดเป็นภาพมีเรื่องราวให้เราพินิจพิเคราะห์ตามแต่จินตนาการของแต่ละคน
ทำให้การดูงานศิลปะครั้งนี้สนุกมาก ออกจะเป็นนักสืบหน่อยๆ ที่ติดตามสะกดรอยใครคนหนึ่ง (ที่เป็นนักเต้นระบำ) เสียดายที่ไม่สามารถขีดๆ เขียนๆ บันทึกภาพลงสมุดอย่างน้องๆ นักศึกษา ฉันจึงได้แต่บันทึกลงในความทรงจำแทน
ในความมืด (ภาพขาวดำ) ฉันเห็นเขากับผู้หญิงท้องแก่และผู้ชายอีกคนคุยกันโฉ่งเฉ่งอย่างออกรส พอเดินไปอีกหน่อยก็เห็นสามคนนี้อีก ในอริยาบทเดียวกันแต่เป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง (เป็นภาพสี) พวกเขายังคงคุยกันไม่หยุดแต่ดูอ่อนช้อยกว่ามาก เห็นสีสันของรอยทีแปรงมากขึ้น ในที่โล่งกว้าง มีสายลมพัดผ่าน ความสงบสุขกลับมาอีกครั้ง
และเมื่อสามคนนี้เดินทางต่อและไปพบกับคนมากขึ้นเรื่อยๆ ความวุ่นวายและเรื่องแปลกก็เกิดขึ้น พลังของทีแปรงเริ่มหนักหน่วงมีพละกำลังทบทวี นักเต้นระบำหายไปกลมกลืนกับฝูงชน แต่ความงามทางศิลปะยังคงอยู่...
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเสพงานศิลปะครั้งนี้ มากันเยอะๆ นะคะ