“นารีนิยาม” Bookvirus ฟุ้ง 07 - เปิดม่านเรื่องสั้นแปลจากนักเขียนหญิงนานาชาติ
บรรณาธิการ และคัดสรรเรื่องสั้นโดย สนธยา ทรัพย์เย็น
นั่งนึกนอนนึก เอาไงดีว้า ไอ้เราก็ค่ายหนังสือเล็ก ๆ ครั้นจะรอให้ช้างมาโปรโมท “นารีนิยาม” ก็คงรอเก้อ ครั้นจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรก็ชวนรู้สึกท้อแท้ใจ หมดเรี่ยวหมดแรง เพราะทุ่มเททำกันออกมากว่าจะเป็นหนังสือแต่ละเล่มนี่เหนื่อยจัง แล้วพอหนังสือออกมาแล้วก็ยิ่งเหนื่อยกว่า คิดไปต่างๆ นานา จะมีคนอ่านไหม หนังสือจะขายได้หรือเปล่า
เลยคิดว่าน่าจะสัมภาษณ์อะไรคุณบอกอดีกว่า ไม่เชียร์กันเองแล้วจะรอเจ๊ดันที่ไหนได้อีก
ต้องขอปูความเป็นมาสักหน่อยนึง อันที่จริง ต้นทางของ บุ๊คไวรัส - หนังสือวรรณกรรมและเรื่องแปลก็เริ่มมาจาก “ฟิล์มไวรัส” น่ะแหละ เพราะตั้งแต่ ฟิล์มไวรัส เล่ม 1 (ปี 2541) ก็มีเรื่องสั้นแปลเรื่องแรก คือเรื่อง “ขอบฟ้าเหตุการณ์” ของ มิเคลันเจโล อันโตนีโอนี่ (ผู้กำกับ Blow-Up, The Eclipse, La Notte) ที่โด่งดัง จากนั้นใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 3 (มีนาคม 2549) ก็มีเรื่อง “ศิลปินชีวิตจริง” ของ ไฆเม่ มันริเก้ และใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 4 ก็มี “หนัง: ประดิษฐกรรมปีศาจ” (ตุลาคม 2549) ที่แต่งโดย ธีโอดอร์ รอสแซ็ค ผู้แต่งนิยายทรงพลังเรื่อง Flicker และนับจากบุ๊คไวรัส เล่มแรก (กันยายน 2547) ถึงตอนนี้บุ๊คไวรัสก็มีพี่น้องร่วมกัน 7 เล่มแล้ว โดยมี “นารีนิยาม” เป็นน้องคนสุดท้อง
ทำไมถึงตั้งชื่อว่า “นารีนิยาม”
เรามีนิยายผู้หญิงชื่อ ปริศนา เจ้าสาวของอานนท์ แต่จริงๆ แล้วปริศนาเป็นคนแบบไหน เจ้าสาวของอานนท์นั้นเป็นคนยังไง คนที่ชื่อปริศนามันก็อาจจะเป็นแค่ปริศนา แล้วคนที่เป็นเจ้าสาวของอานนท์ เธอก็อาจมีตัวตนเป็นแค่เจ้าสาวของอานนท์... เลยอยากจะรู้ว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะรู้จักตัวผู้หญิงให้มากขึ้นผ่านมุมมองของผู้หญิงเอง แต่เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามันถูกต้องแค่ไหน เราก็เลยใช้คำว่า “นิยามความเป็นผู้หญิง” เพราะคนเราชอบให้คำนิยามคนอื่น แต่ไม่ชอบนิยามตัวเอง
ก่อนจะเป็น “ นารีนิยาม” มีคำอื่นไหม
ตอนแรกตั้งใจจะตั้งชื่อว่า “ขวัญตายาหยี” เพราะเรื่องสั้นมิแรนดา จูลาย อีกเรื่องที่เล็งไว้ (แต่ใน “นารีนิยาม” เปลี่ยนแปลอีกเรื่องของเธอแทน) พอมาตอนเตรียมเรื่องสั้นในมือ รู้สึกว่ามันยังไม่เหมาะกับชื่อนี้
มีอะไรพิเศษหรือเปล่า เพราะรู้สึกว่าบุ๊คไวรัสทำเรื่องผู้หญิงสองครั้งแล้ว
เพราะรู้สึกว่าบุ๊คไวรัส เล่ม 5 นางเพลิง เป็นผู้หญิงหม่นๆ ค่อนไปทาง feel bad ก็เลยอยากทำให้หลากหลายขึ้น มีมุมน่ารักๆ มีความเป็นเมโลดรามาหน่อย ๆ มีผู้หญิงจืดๆ มีผู้หญิงเปรี้ยวๆ หรือแนวผู้หญิงกระจุ๋มกระจิ๋ม เพื่อให้ภาพพจน์กับนิยามความเป็นผู้หญิงหลากหลายมากขึ้น ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการโรแมนติกสักปานนั้น (เหอ เหอ...)
รู้สึกลำบากใจไหมในการเลือกเรื่องสั้นผู้หญิง แบบว่ารักพี่สงสารน้อง
ในฐานะที่เป็นคนโรแมนติก แต่หลายใจ จึงเสนอคำตอบเดียว และคำตอบสุดท้ายว่า อย่ากระนั้นเลยถ้ารักพี่เสียดายน้องก็ต้องรวบนางไว้ทั้งสอง นี้คือเหตุที่ทำไมเล่มนี้ถึงอ้วนขึ้นกว่าเดิมเยอะ และออกช้ากว่าที่ตั้งใจไว้แต่แรกอีกตั้งหาก ทั้งนี้ที่ออกเลทมาก ๆ คงต้องโทษคุณ แดนอรัญ ด้วย
แล้วรวบตัว คุณแดนอรัญ แสงทอง ได้อย่างไร
เราเคยพิมพ์งานของเขาตั้งแต่ปี 2547 ในบุ๊คไวรัส เล่ม 2 แล้ว ตามด้วยเล่ม 3, และเล่ม 6 (เดอะ เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ – โอเพ่นบุ๊คส์ จัดพิมพ์) คือมีทั้งเรื่องที่เขาแปล และเรื่องแต่งเอง วิธีการจับเสือก็ไม่ยาก แทนที่จะเดินตามไปในป่า เราก็รออยู่หน้าถ้ำ เพราะยังไงเสือก็ต้องกลับถ้ำ แล้วเสือก็พูดภาษาคนรู้เรื่อง ไม่ยากหรือดุดันอย่างในเรื่อง “เจ้าการะเกด”
แล้วนักแปลคนอื่นๆ ล่ะ
มาจากเวทีนางงามหลายแห่ง คัดมาจากตัวเป้งๆ อุดมด้วยกลิ่มสาปสางดุดัน รับประกันคุณภาพงานแปล ชนิดทำใจไม่ลำบาก
ไปเจอเรื่องสั้นแปลกๆ เหล่านี้จากไหน
ที่บ้าน เก็บหนังสือนิยาย เรื่องสั้นไว้เยอะ มีเป็นพันเล่ม อ่านไม่หมด แต่ว่าที่เอามาแปลๆ บางเรื่องก็อ่านมาหลายปีแล้ว มีบางเรื่องซีร็อกซ์มาจากห้องสมุด คละๆ กันกับหนังสือที่บ้าน
ใครเป็นคนตั้งชื่อเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง โดยส่วนตัวรู้สึกติดหู ง่ายๆ แต่สะดุดตา
นักว่ายน้ำ เกมที่ค้างคา ลอกลายกุหลาบ ม้าน้ำ จบให้สวย
เล่มนี้คนแปลเขาตั้งเองล้วนๆ แต่เล่มก่อนๆ ผมตั้งเองเกือบทั้งหมด
อ่าน “นักว่ายน้ำ” ขำมาก ขำกับไอเดียที่ส่งรับระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน
เรื่องนี้ออกแนวขำๆ กระจุ๋มกระจิ๋มอย่างที่บอก คนที่เคยดูหนังของ มิแรนด้า จูลาย เรื่อง Me and You and Everyone We Know คงจะเห็นหน้าเธอ ตัวเธอลอยมา ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ภาพพจน์ของผู้หญิงที่มีความหมกมุ่นในมุมเล็ก ๆ กระทัดรัดในแบบของผู้หญิงเหมียว ๆ แมว ๆ ที่ชอบคลอเคลีย แล้วก็เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ประหลาด ๆ เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องสั้นที่ไม่เน้นเนื้อเรื่อง แต่จะเน้นมุมมองเฉพาะ ซึ่งเธอทำตรงนี้เก่ง ตอนแรกก็มีอีกเรื่องหนึ่งของเธอที่ผมอยากจะให้แปล เรื่องนั้นเธอก็พูดถึงผู้ชายที่เธอแอบหลงรัก แล้วก็ฟุ้งฝันเป็นตุเป็นตะไปต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งถ้าเรียกว่าเป็นความคิกคุอาโนเนะ ก็เป็นยี่ห้อแบบที่ไม่มีใครซ้ำเธอได้ แบบที่แปะยี่ห้อเธอเต็มหรา
รู้สึกว่าตัวละครเอกใน “ม้าน้ำ” ค่อนข้างประหลาด เนื้อเรื่องทำนองนี้ของไทยมีไหม
ของไทยคงมีแบบพวกพระอภัยมณี สินสมุทร แต่จุดประสงค์ในการเขียนมันต่างกันมากอยู่แล้ว เพราะวิธีคิดแบบแฟนตาซีหรือเมจิคเรียลลิสม์ของฝรั่ง ของญี่ปุ่น ของไทย หรือตัวละครของ ฟรานซ์ คาฟก้า มันคิดต่างกันอย่างสิ้นเชิง ของญี่ปุ่นจะมีประเด็นเรื่องผู้หญิง เป็นภาพอุปมาอุปไมยเชิงสัญลักษณ์ที่เรียบง่าย แต่ตัวแนวคิดลักษณะนี้คงไม่ใช่ของใหม่ แต่ว่าตัวนักเขียน ฮิโรมิ คาวาคามิ เล่าเรื่องได้เหมาะกับสไตล์ของเธอดี ที่ชอบมากเป็นพิเศษ ขำทุกทีเวลานึกถึง ตรงที่คนแปลใช้คำว่า “ของแบบนั้น”
โดยส่วนตัวของคนสัมภาษณ์ที่เดินทางบ่อย รู้สึกชินกับนิสัย (ด้านลบ) ของผู้คนในเรื่อง “เกมที่ค้างคา” มาก ทำให้รู้สึกว่าโอ้ว ทำไมคนแบบนี้มีทั่วเลยนะ
ความไม่มีระเบียบวุ่นวายพวกนั้น เราคนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่พอเรื่องนำไปเรื่อยๆ มันก็นำไปสู่ความจริงใกล้ตัวที่ทุกคนสัมผัสได้ ว่าชีวิตมันก็แค่นี้แหละ คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หน้าตาอาจดูจืด ๆ เหมือนไม่มีสีสันเท่าไร แต่มันเป็นความจริงที่ “จริงจนจำ”
เห็นใจและเข้าใจผู้หญิงคนนั้นใน “ลอกลายกุหลาบ” ชีวิตมันไม่ง่ายอย่างคิด
คนอ่านเรื่องนี้ถ้าไม่ชอบแนวนี้ก็คงปวดประสาทไปเลย เหมือนเราดูหนังของ เอริค โรห์แมร์ หรือจอห์น แคสซาเวททีส หรือ อิงมาร์ เบิร์กแมน คือคนอ่านหลายๆ คน อาจบอกว่ามันอะไรกันหนักกันหนา ไอ้พวกนางเอกจิตตกพวกนี้ ทำไมกูต้องมารับรู้เรื่องของพวกมึงด้วยฟะ แม้แต่ผู้หญิงเองก็คงมีหลายคน ไม่ใช่เฉพาะผู้ชายนะ ที่คงไม่อยากจะรับรู้เรื่องที่ดูเหมือนจุกจิกรกประสาททำนองนี้ แต่ถ้าใครที่ชอบนักเขียนที่จิตป่วยๆ แบบ เจเน็ท เฟรม ก็น่าจะชอบ (หรือเรื่องเกาหลี “ช้างคืนเรือน” ของ โจ คียุง รัน ใน นางเพลิง – บุ๊คไวรัส 05) ซึ่งคงมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ขนาดตัว บ.ก. เลือกเรื่องนี้มาเองยังอดคิดไม่ได้ว่า หาเรื่องปวดกะบาลแท้ ๆ สารภาพว่าปวดหัวกับอีนางนี่ที่สุดในบรรดาเรื่องสั้นทั้งหมดที่เคยทำมา ตอนขัดเกลาสำนวนนี่แทบคลั่ง
“จบให้สวย” รู้สึกว่าอ่านง่าย สบายๆ ออกจะขำ ๆ ต่างจากเรื่องอื่นๆ
เรื่องนี้หงุดหงิดมากเลย ตอนแรกตั้งใจว่าจะไม่เอาลง ที่หนังสือออกช้าเพราะว่า คุณ แดนอรัญ แกบอกว่าอยากร่วมแจมกับ บุ๊คไวรัส ด้วยเรื่องหนึ่ง เราก็เลยรอ แล้วยิ่งแกบอกว่าเป็นมาร์กาเร็ท แอ็ตวูด ด้วยก็ดี กะว่าจะได้อ่านเรื่องเข้มข้น แต่พอแกแปลเสร็จส่งมา อ้าว ไหงงั้น คิดว่าเรื่องนี้คงเป็นเรื่องเบาๆ ของมาร์กาเร็ท แอ็ตวูด ที่เหมาะกับการปิดท้ายเล่ม เพราะว่าเพิ่งโหดกับคนอ่านจาก “ลอกลายกุหลาบ” ไป ก็เลยน่าจะมีของขวัญให้คนอ่านเป็นการตอบแทนความอดทนที่มอบให้บุ๊คไวรัส
นอกจากบุ๊คไวรัสเล่มนี้ยังมีหนังสือใหม่ในเครือฟิล์มไวรัสเล่มอื่นอีกไหม
มีเล่ม “ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ” ที่ต้นฉบับเสร็จตั้งแต่ก่อนงานหนังสือเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นับถึงตอนนี้ก็เกือบครบรอบหนึ่งปีพอดี ก็น่าจะได้ฤกษ์วางแผงสักที (ถือเป็นผลบุญจากลุงบุญมีล้วนๆ) ใครที่สนใจว่าจะทำหนังอินดี้แล้วต้องไปหาเงินทุนต่างประเทศจากที่ไหน ก็ให้อ่านได้ในบทสัมภาษณ์พวกนี้เลย มีครบ ตั้งแต่ อภิชาติพงศ์, โสฬส, อโนชา, อาทิตย์, อุรุพงษ์, พิมผกา, ศิวโรจณ์, จักรวาล และอีกหลายๆ คน เสร็จจากเล่มนี้คงต้องพักก่อน อย่างที่เคยบอกว่าการทำหนังสือไม่สนุกเลย โดยเฉพาะถ้าต้องลงทุนเองขายเอง
ตัวละครไหนในเล่มที่สนธยาอ่านแล้วรู้สึกอิน
ตัวละครจิตตกแบบ “ลอกลายกุหลาบ” ทุกคนอาจจะเคยเป็นมากบ้างน้อยบ้าง แต่จะบอกว่าเป็นเราเหรอก็ไม่ใช่ เพราะถ้าเลือกได้ ก็ไม่มีใครอยากเป็นอย่างนั้นหรอก
ระหว่างเขียนหนังสือกับทำหนังสือชอบอย่างไหนมากกว่า
การทำหนังสือกับการเขียนหนังสือเป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก เพราะมีปัญหาทางการผลิตที่ต้องแก้ไขตรวจทานกว่าจะเป็นเล่มหนังสือออกมา ออกมาเสร็จก็ยังมีอะไรที่ผิดพลาดให้กลุ้มใจได้อยู่ดี ส่วนการเขียนหนังสือบางคนอาจจะคิดว่าเป็นความสุขที่ได้แสดงออก ได้พูดในเรื่องต่างๆ แต่ความรู้สึกแบบนั้นไม่ใช่กับผมแน่ๆ ผมไม่ชอบคำอธิบาย และไม่ชอบเขียนอธิบายตัวเอง ขนาดพูดยังเบื่อเลย แต่การพูดมันง่ายกว่า เพราะมันใช้เวลาน้อยกว่า ขนาดจะต้องกรอก ต้องเซ็นเอกสาร หรือส่งอีเมล์ ยังรู้สึกเป็นภาระเลย
ตัวจริงของสนธยาหวานบ้างไหม
หวานอมขมกลืนผสมปนเปกันไป ผสมอารมณ์ทุกแบบเหมือนคนอื่นๆ โดยรวมชีวิตก็โอเคดีถ้าไม่ต้องมานั่งทำหนังสือเอง แต่ที่เป็นทุกข์ เพราะว่าขี้เกียจทำหนังสือ แต่ดันอยากมีหนังสือของนักเขียนที่ตัวเองชอบๆ ทำพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม แต่ถ้าพูดไปนะ อยากทำนิยายแปลมากกว่าเรื่องสั้น พอเวลาชีวิตของเรายิ่งสั้นลงก็อยากทำอะไรที่อยากทำที่สุด เรื่องสั้นบางทีก็เหมือนกับหนังสั้น หาเรื่องที่มันอิ่มเต็มได้ยาก
นอกจากทำหนังสือแล้ว มีโปรเจ็กอื่นๆ อีกไหม
ตอนนี้ยังมีหนังสือค้างอยู่สองเล่มคือ หนังสือนิยายขนาดสั้นของ มาร์เกอริต ดูราส์ กับหนังสือหนังของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้ เล่มแรกติดต่อลิขสิทธิ์อยู่ ส่วนอีกเล่มไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการ “อ่าน” เขาก็แปลเสร็จตั้งนานเป็นสิบปีแล้ว แต่ว่าดูไปแล้ว ถ้าพิมพ์จริงอนาคตคงริบหรี่ ตอนนี้เรื่องเฉพาะหน้าก็มีแต่เรื่องทำหนัง มีสารพัดโปรเจ็กท์ แต่ดันติดตรงขี้เกียจเขียนบทด้วยนี่สิ
ไอ้เรื่องทำหนังสือนี่ เรื่องทุนเรื่องกำไรมันแทบไม่ได้คืน อันนั้นเข้าใจได้ แต่ที่น่าแปลกก็คือคนที่อ่านทั้งฟิล์มไวรัสและบุ๊คไวรัส ไม่เคยส่งเสียงมาให้กำลังใจเราบ้างสักนิด คอมเมนท์หรือวิจารณ์งานก็ได้ เราไม่ได้คิดว่าหนังสือเราดีเด่เสียเหลือเกิน แต่มันเป็นแบบนี้ตลอด ต้องเอออวยตัวเองทั้งปีทั้งชาติ แทบไม่เคยรู้เลยว่าชอบไม่ชอบเรื่องไหน
อยากฝากอะไรถึงคนอ่านบ้างไหม
เรื่องสั้นในบุ๊คไวรัสที่ผมคัดมา แม้ว่าจะมีชื่อเสียงในต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ว่าในเมืองไทยแทบจะเรียกได้ว่าค่อนข้างโนเนมเกือบทุกคน ยังไงอยากให้ลองเปิดใจอ่านนักเขียนชื่ออื่นๆ ที่ไม่คุ้นหูดูบ้าง เพราะว่านักเขียนที่มีฝีมือจริงๆ ยังมีที่หลงหูหลงตาอีกเยอะ เหมือนกับหนังนอกกระแสสมัยก่อน สมัยที่ยังไม่มี ดีวีดี ยังไม่มีดาวน์โหลด แต่พอหลายคนได้ดูก็ประทับใจ ก็ถามว่าหนังแบบนี้มีด้วยเหรอ นักเขียนแบบนี้มีด้วยเหรอ ทำไมเกิดมาไม่เคยได้ยินเลย แล้วหนังสือบุ๊คไวรัส เล่มเล็ก ๆ ส่วนใหญ่เราก็พิมพ์แค่ร้อยเล่ม สองร้อยเล่มเท่านั้นเอง พิมพ์ยอดแค่นี้ก็คงหวังกำไรหรือทุนคืนไม่ได้แน่ ๆ แต่จะให้พิมพ์มากกว่านี้ก็ไม่มีตังค์หรอกครับ
******************************************************************************
เหล่านี้คือรายละเอียดของบุ๊คไวรัส เล่ม 1 – เล่ม 7 ค่ะ
* * * หาซื้อ บุ๊คไวรัส บางเล่มได้ที่ร้านหนังสือ คิโนคูนิยะ สาขาห้างพารากอน หรือ ห้างอิเซตัน (ราชประสงค์) แต่เฉพาะเล่ม “นารีนิยาม” เพิ่มการวางจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือจุฬาทุกสาขาทั้งกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งร้าน ก็องดิด (อยู่ตรงสี่แยกคอกวัว หลังอนุสรณ์สถาน ถ. ราชดำเนิน ประมาณ 200 เมตร ริมถนนตะนาว) ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ค่ะ ติดต่อสอบถามที่ email : filmvirus@gmail.com * * *
ปี 2547
บุ๊คไวรัส เล่ม 1 : A-Z หนังวรรณกรรม (รวม 262 หนังนานาชาติ จากนักเขียน 129 คน เขียนคำนิยมโดยสองชาติ คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)
ปี 2547
บุ๊คไวรัส เล่ม 2 (รวมเรื่องสั้นทั้งจากนักเขียนไทยและเทศ)
เรื่องสั้นไทยประกอบด้วย
“จินตนาการไร้บรรทัด” : Visual Art Novel โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
“ในท่ามกลางแสงแห่งเดือนอันฉายฉาน” โดย แดนอรัญ แสงทอง
“ความตายกับศิลปิน” โดย อุทิศ เหมะมูล
“สุมลกับสุมลรัตน์” โดย เอื้อ อัญชลี
“ความเงียบแห่งจักรวาล” โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์
และเรื่องสั้นต่างประเทศ
“โทรเลขสองฉบับ” (มิเกลอันเจโล่ อันโตนีโอนี่- เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“พื้นที่ทางใจ” (แซม เชพพาร์ด - เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“แดนใต้” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“กาลอวสาน” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“ เกม” (โดนัลด์ บาร์เทลมี่ – เขียน) แปลโดย จิตติ พัวสุทธิ
“หูล้างเลือด” (อีแธน โคน – เขียน) แปลโดย ชนิดา ศักดิ์สิริสัมพันธ์
“บทสัมภาษณ์ ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส โดย อามาเลีย บาริลี่” แปลโดย กรกิจ ดิษฐาน
และอื่นๆ
ปี 2552
บุ๊คไวรัส เล่ม 3 : กาจับโลง (2 เรื่องสั้นแปลจากนักเขียนระดับโลก)
“เลือดสามหยาด” (Sadeq Hedayat - เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“สารานุกรมชีวิตผู้ตาย” (Danilo Kis – เขียน) แปลโดย ธิติยา ชีรานนท์
บุ๊คไวรัส เล่ม 4 : สนธิสัญญาอสูร (3 เรื่องสั้นแปลที่สังสรรค์โลกมืดกับความขันขื่น)
ประเดิมเรื่องสั้นจาก Felisberto Hernandez (ครูใหญ่ของนักเขียนอย่าง Gabriel Garcia Marquez, Julio Cortazar และ Italo Calvino)
“จรลีร่ำไห้” (Felisberto Hernandez – เขียน) แปลโดย ชัยวัฒน์ ทองรัตน์
“บุญผ่อนบาป” (Slawomir Mrozek – เขียน) แปลโดย ชาญชนะ หอมทรัพย์
“หน้าต่างกลางไพร” (Jonathan Baumbach – เขียน) แปลโดย ณิชา อู่ดาราศักดิ์
ปี 2552
รวมเรื่องสั้นแปลสาวแสบเอเชียปะทะยุโรป
บาซูก้าของจูเลีย ผลงานของ แอนนา คาแวน (อังกฤษ)
ภูเขาอุกกาบาต ของ ฉาน เสว่ (จีน)
ช้างคืนเรือน ของ โจ คียุง รัน (เกาหลี)
ปี 2553
บุ๊คไวรัส เล่ม 6 : เดอะ เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ (ฉบับครบรอบ 100 ปี)
Algernon Blackwood – เขียน
แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง (ที่เจ้าตัวออกปากว่าเป็นงานแปลที่โหดหินที่สุดในชีวิต)
และน้องเล็กสุดท้อง
บุ๊คไวรัส เล่ม 7 นารีนิยาม : (เบิกม่านเรื่องสั้นผู้หญิงเกินนิยาม)
“นักว่ายน้ำ” (มิแรนดา จูลาย – เขียน) แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร
“เกมที่ค้างคา” (โกลี ทารากี - เขียน) แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง
“ม้าน้ำ” (ฮิโรมิ คาวาคามิ – เขียน) แปลโดย โดยมัทนา จาตุรแสงไพโรจน์
“ลอกลายกุหลาบ” (แคลริซ ลิสเปคเตอร์ – เขียน) แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์
“จบให้สวย” (มาร์กาเร็ท แอ็ตวูด – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง