วันอังคารที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

สาวมุสลิมทำหนัง





สาวมุสลิมทำหนัง

โดย โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด

ซามีร่า มัคมาลบัฟ ไม่ได้เป็นแค่ลูกสาวของผู้กำกับชื่อดังอย่าง โมห์เซ่น มัคมาลบัฟ ที่ก่อตั้งโรงเรียนหนังมัคมาลบัฟ โดยไม่ง้อเงินรัฐบาล แต่เรียกได้ว่าเธอคือผู้กำกับหญิงชาวอิหร่านที่โลกรู้จักมากที่สุด อีกทั้งยังได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินภาพยนตร์ในเทศกาลใหญ่ๆ ทั้งเมือง คานส์, เวนิส และเบอร์ลิน

แม้ว่าเธอจะนับถือศาสนาอิสลามที่เต็มไปด้วยกฎเข้มงวด เช่นเรื่องดูหนังฟังเพลงที่มุสลิมใฝ่ดีพึงหลีกเลี่ยง แต่มุมมองละเอียดอ่อนของเธอได้ฉายให้คนดูหนังมองเห็นคุณค่าของชีวิตเรียบง่ายธรรมดา สิทธิ์และศักดิ์ศรีของมนุษย์ตาดำๆ ที่แม้ว่าภายนอกใจดำบาดหมาง แต่ในเนื้อแท้แล้วยังไม่สิ้นซึ่งมิตรภาพและความเอื้ออาทร

พ่อของเธอชักนำให้เธอมาแสดงเรื่อง The Cyclist ตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น ด้วยความหลงใหลในภาพยนตร์ ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมัธยม เพื่อมาเรียนหนังอย่างจริงจังที่โรงเรียนของครอบครัวพออายุ 18 ปี ก็ได้กำกับหนังยาวเรื่องแรกชื่อ The Apple เล่าชีวิตจริงของเด็กหญิง 2 คน ที่มีบุคลิกท่าทางการพูดไม่สมประกอบ เพราะถูกพ่อแม่แท้ๆ ขังไว้ในบ้านโดยไม่ให้ออกนอกรั้วบ้านนับ 10 ปี ด้วยความที่พ่อแม่ซึ่งเคร่งศาสนาและยากจนมาก กลัวว่าลูกสาวจะแปดเปื้อนมลทินจากสังคมภายนอก กว่าที่มูลนิธิปกป้องสิทธิเด็กจะเข้าไปยื่นมือช่วย เรื่องก็บานปลายไปโข ซ้ำยังถูกตั้งคำถามกลับว่าเสือกสอดกับครอบครัวเขาเสียนี่

หนังตั้งคำถามสำคัญว่าบางครั้งความถูกต้องสมบูรณ์แบบในสังคมนั้นเป็นไปได้ยาก ปัญหาไม่ได้มีที่มาจากเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมกันของทุกคนที่ต้องรับรู้และพยายามทำความเข้าใจ อีกทั้งความรักคือการดูแลคนที่เรารักให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตไม่ใช่หรอกหรือ หรือว่าที่แท้พ่อแม่ต่างหากที่เป็นพิษ

The Apple ทำให้เธอกลายเป็นผู้กำกับที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเชิญให้ไปฉายโชว์ที่เมืองคานส์ในปี 1998 และได้ฉายตามเทศกาลหนังนานาชาติต่างๆ กว่า 100 เทศกาล ใน 30 ประเทศ ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลามและกวาดรางวัลมากมายนับไม่ถ้วน แต่ในประเทศอิหร่านหนังกลับถูกรัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้เผยแพร่ แถมหาวิธีห้ามฉายแบบต่างๆ ทำให้มีคนอิหร่านจำนวนไม่มากนักที่ได้ชม The Apple

ส่วน หนังสั้น ตอน God, Construction and Destruction ในหนังชุด 11’9”01 ซามีร่าเป็น 1 ใน 11 ผู้กำกับจากทั่วโลกที่ถูกเชิญไปทำหนังเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ตึกเวิล์ดเทรด เธอถ่ายทอดมุมมองของเด็กลี้ภัยชาวอัฟกันในอิหร่านที่แม้ครูของพวกเขาจะพยายามสอนเท่าไร ก็ยังยากจะเข้าใจโศกนาฏกรรมครั้งนี้ในระนาบความหมายเดียวกัน โดยเปรียบเปรยว่าปัญหาความเป็นตายเฉพาะหน้ารายวันทำให้คนต่างชาติพันธุ์มองเหตุการณ์เดียวกันในมุมแคบ ๆ ที่แตกต่างกันมาก จนถึงระดับที่ไม่มีทางสื่อสารให้เข้าใจกันได้เลย อีกทั้งในหายนะแต่ละครั้งสิ่งสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนตาย แต่เพราะมันเป็นสัจธรรมของชีวิตที่สอดคล้องกันอย่างมีที่มาและที่ไป

ฮาน่า มัคมาลบัฟ น้องสาวของซามีร่าที่เรียนจบโรงเรียนทำหนังมัคมาลบัฟเช่นกัน ได้ถ่ายสารคดี Joy of Madness ซึ่งเป็นสารคดีเบื้องหลังหนังเรื่อง Blackboards ที่ซามีร่ากำกับ เราได้เห็นปัญหาในกองถ่ายหนังมากมาย ตั้งแต่การหาโลเกชั่น คัดเลือกชาวบ้านที่มีนิสัยเรื่องมากเหลือหลายมาเป็นนักแสดง เธอต้องมีความอดทนสูงต่ออุปสรรคและเรื่องกวนใจมากมาย แต่เราก็ได้เห็นว่าเธอตั้งใจจะต่อสู้เพื่อปากเสียงของชาวอัฟกันในอิหร่านมากแค่ไหน ความสำเร็จในชีวิตที่เธอได้มาตั้งแต่อายุน้อยจึงไม่ใช่เรื่องฟลุ้คแน่ๆ

สมกับการเป็นลูกสาวในตระกูลมัคมาลบัฟที่โด่งดังกันทั้งตระกูล เพราะหนังของเธอทุกเรื่องเป็นหนังที่เกี่ยวกับชีวิตของคนธรรมดาและคนกลุ่มน้อย ทำให้เรารู้สึกร่วมในเหตุการณ์ ได้ลิ้มรสความลำบาก และสะท้อนอีกด้านของชีวิตที่เราไม่เคยรับรู้ ทำให้มองเห็นข้อจำกัดของคน ต่อให้พวกเขากระทำผิดและมีความบกพร่องอย่างไร พวกเราก็เข้าใจได้ในข้อจำกัดและการตัดสินใจของพวกเขา เพราะพวกเขาทุกคนยังมีคุณค่าในตัวเองเสมอ *


หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นบทความแรกในชีวิต ภายใต้ข้อจำกัดของเนื้อที่ 1 หน้า A4 ตีพิมพ์ในนิตยสาร คนมีสี คอลัมน์ ฟิล์มไวรัส เมื่อ พฤษภาคม 2550

๒ ความคิดเห็น:

Jim Pardo กล่าวว่า...

Hello Sohk,
I had a little difficulty reading this blog... I even turned it upside down, but that tid not work either.

Jim Pardo

ninamori กล่าวว่า...

Hello Jim,
Thank you for visiting my blog. I'll add in some English texts for you soon.

With Love from Ninamori