วันศุกร์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

หมุน ขยับๆ หุ่นไม้กลไกได้อารมณ์


by Ninamori

งงๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ในชุดดำบอกว่า “เล่นได้นะ” เพราะไม่แน่ใจว่าเขาจะให้เล่นอะไร จนกระทั่งเขาเข้ามาใกล้ๆ และบอกให้กดปุ่มเล่นหุ่นได้...
โอ๊ะ โอ ตั้งแต่ดูงานศิลปะมาก็ไม่เคยได้แตะต้องของๆ ใคร แต่งานนี้เขาอยากให้เรามีส่วนร่วมแฮะ และอนุญาตให้เล่นได้เต็มที่จนเลือกไม่ถูกว่า
จะเริ่มอันไหนก่อนดี



“แม่ๆๆ ดูนั่นๆ ขยับแล้วแม่ ” เสียงเด็กผู้หญิงวัยประมาณ 4 ขวบผมยาวน่ารักบอกแม่ด้วยความตื่นเต้น





“หนูทำได้แล้ว หนูทำให้มันขยับเอง” เธอร้องบอกแม่ด้วยความดีใจ แล้วก็หัวเราะชอบอกชอบใจในฝีมือตัวเองที่สามารถทำให้หุ่นเคลื่อนไหวได้ ก่อนที่
จะวิ่งวุ่นทั่วห้องจนแม่ตามแทบไม่ทัน





ระยะเวลา 2 เดือนกว่าๆ ตั้งแต่ 27 ก.ค. – 30 ก.ย.50 ที่ห้องจัดแสดง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม นอกจากจะเป็นสถานที่จัดแสดงงานชั้นเยี่ยมชุดนี้แล้ว ยังจัดเป็นห้องแห่งความสุขแห่งปีก็ว่าได้ เพราะคนจำนวนมากที่มาเยี่ยมชมไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ทุกคนมีความสุข หลายคนมามากกว่า 2 ครั้ง (งานเปิดให้ชมฟรี)

แค่ก้าวแรกที่เดินเข้าไป ก็คิดถึงเด็กๆ เยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส (อันที่จริงต่อให้มีเงินซื้อก็ไม่มีขายในโลก) คิดถึงเพื่อนๆ และเพื่อนของเพื่อนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก อยากให้พวกเขาได้มาดูด้วย เพราะมันสุดยอดมาก เป็นงานที่ละเอียดและน่าสนใจที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มชีวิตในวัยเด็กก็ว่าได้ แต่ก่อนอื่นก็ขอถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกให้หลานที่ต่างจังหวัดได้ดูเพื่อประกอบการเล่านิทานก่อนนอน และสำหรับเพื่อนๆ ที่พลาดไม่ได้มาดู



อันที่จริงก็ชอบหุ่นไม้ทั้งหมดนะ แต่ที่ชอบมากกว่าคือ ชุดหุ่นไม้ชายหนุ่มผู้ฝันร้ายที่กำลังจะถูกงูยักษ์กิน, หุ่นชายหนุ่มผู้อาภัพรัก ชายผู้ตอกตะปูกี่ทีก็พลาด, เทพเจ้าแห่งความตายที่ต้องออกกำลังกายด้วยการซิตอัพเพื่อเสียดสีความเป็นอมตะของมนุษย์, แม่จิงโจ้ที่อุ้มลูกน้อยใส่กระเป๋าแล้วออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือก, นกยูงรำแพน, กาลาสีเรือพายเรือโต้คลืนยักษ์กลางมหาสมุทร, แมวจอมงกเลียน นมที่หกบนพื้น และอื่นๆ เป็นต้น



ใครคือนักประดิษฐ์เจ้าของผลงานเหล่านี้นะ
พวกเขามาไกลถึงประเทศอังกฤษเลยแหละ พวกเขาคือ Sue Stolpe, Paul Spooner, Peter Markey, Ron Fuller, Keith Newstead, Matt Smith และ Michael Howard



เหล่านี้คือส่วนสำคัญที่นักประดิษฐ์สร้างขึ้นมา เพื่อทำให้ไม้ธรรมดาๆ ลุกขึ้นมาปลุกจินตนาการของพวกเรา
เฟือง – ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ
เพลา – เป็นศูนย์กลางช่วยให้ฟันเฟืองอื่นๆ ทำงานอย่างเหมาะเจาะและต่อเนื่อง
ลูกเบี้ยว – หมุนไปผลักตัวตาม (ก้านที่ติดกับตัวหุ่น) ทำให้เกิดลูกเล่นในการเคลื่อนที่ซ้ายขวาขึ้นลง
ข้อต่อ – ส่งแรงจากข้อเหวี่ยงไปยังกลไกส่วนอื่นเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหว
ข้อเหวี่ยง – เปลี่ยนการหมุนเป็นการเคลื่อนไหวขึ้นลงไปมา
คาน - ใช้ทุนแรงโดยพึ่งกำลังจากจุดหมุน
เฟืองขับและเฟืองทด – ทำให้หมุนได้ไม่หยุดในทิศทางเดียวกันและรอบเท่าๆ กัน



แล้วเจ้าหุ่นไม้ทั้งหลายก็เคลื่อนไหวเป็นจังหวะด้วยท่วงท่าโยกย้ายๆ หมุน ขยับๆ จนเรารักและเอ็นดูพวกมันจับใจ

ไม่มีความคิดเห็น: