วันศุกร์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

หมุน ขยับๆ หุ่นไม้กลไกได้อารมณ์


by Ninamori

งงๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ในชุดดำบอกว่า “เล่นได้นะ” เพราะไม่แน่ใจว่าเขาจะให้เล่นอะไร จนกระทั่งเขาเข้ามาใกล้ๆ และบอกให้กดปุ่มเล่นหุ่นได้...
โอ๊ะ โอ ตั้งแต่ดูงานศิลปะมาก็ไม่เคยได้แตะต้องของๆ ใคร แต่งานนี้เขาอยากให้เรามีส่วนร่วมแฮะ และอนุญาตให้เล่นได้เต็มที่จนเลือกไม่ถูกว่า
จะเริ่มอันไหนก่อนดี



“แม่ๆๆ ดูนั่นๆ ขยับแล้วแม่ ” เสียงเด็กผู้หญิงวัยประมาณ 4 ขวบผมยาวน่ารักบอกแม่ด้วยความตื่นเต้น





“หนูทำได้แล้ว หนูทำให้มันขยับเอง” เธอร้องบอกแม่ด้วยความดีใจ แล้วก็หัวเราะชอบอกชอบใจในฝีมือตัวเองที่สามารถทำให้หุ่นเคลื่อนไหวได้ ก่อนที่
จะวิ่งวุ่นทั่วห้องจนแม่ตามแทบไม่ทัน





ระยะเวลา 2 เดือนกว่าๆ ตั้งแต่ 27 ก.ค. – 30 ก.ย.50 ที่ห้องจัดแสดง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม นอกจากจะเป็นสถานที่จัดแสดงงานชั้นเยี่ยมชุดนี้แล้ว ยังจัดเป็นห้องแห่งความสุขแห่งปีก็ว่าได้ เพราะคนจำนวนมากที่มาเยี่ยมชมไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ทุกคนมีความสุข หลายคนมามากกว่า 2 ครั้ง (งานเปิดให้ชมฟรี)

แค่ก้าวแรกที่เดินเข้าไป ก็คิดถึงเด็กๆ เยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส (อันที่จริงต่อให้มีเงินซื้อก็ไม่มีขายในโลก) คิดถึงเพื่อนๆ และเพื่อนของเพื่อนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก อยากให้พวกเขาได้มาดูด้วย เพราะมันสุดยอดมาก เป็นงานที่ละเอียดและน่าสนใจที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มชีวิตในวัยเด็กก็ว่าได้ แต่ก่อนอื่นก็ขอถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกให้หลานที่ต่างจังหวัดได้ดูเพื่อประกอบการเล่านิทานก่อนนอน และสำหรับเพื่อนๆ ที่พลาดไม่ได้มาดู



อันที่จริงก็ชอบหุ่นไม้ทั้งหมดนะ แต่ที่ชอบมากกว่าคือ ชุดหุ่นไม้ชายหนุ่มผู้ฝันร้ายที่กำลังจะถูกงูยักษ์กิน, หุ่นชายหนุ่มผู้อาภัพรัก ชายผู้ตอกตะปูกี่ทีก็พลาด, เทพเจ้าแห่งความตายที่ต้องออกกำลังกายด้วยการซิตอัพเพื่อเสียดสีความเป็นอมตะของมนุษย์, แม่จิงโจ้ที่อุ้มลูกน้อยใส่กระเป๋าแล้วออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือก, นกยูงรำแพน, กาลาสีเรือพายเรือโต้คลืนยักษ์กลางมหาสมุทร, แมวจอมงกเลียน นมที่หกบนพื้น และอื่นๆ เป็นต้น



ใครคือนักประดิษฐ์เจ้าของผลงานเหล่านี้นะ
พวกเขามาไกลถึงประเทศอังกฤษเลยแหละ พวกเขาคือ Sue Stolpe, Paul Spooner, Peter Markey, Ron Fuller, Keith Newstead, Matt Smith และ Michael Howard



เหล่านี้คือส่วนสำคัญที่นักประดิษฐ์สร้างขึ้นมา เพื่อทำให้ไม้ธรรมดาๆ ลุกขึ้นมาปลุกจินตนาการของพวกเรา
เฟือง – ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ
เพลา – เป็นศูนย์กลางช่วยให้ฟันเฟืองอื่นๆ ทำงานอย่างเหมาะเจาะและต่อเนื่อง
ลูกเบี้ยว – หมุนไปผลักตัวตาม (ก้านที่ติดกับตัวหุ่น) ทำให้เกิดลูกเล่นในการเคลื่อนที่ซ้ายขวาขึ้นลง
ข้อต่อ – ส่งแรงจากข้อเหวี่ยงไปยังกลไกส่วนอื่นเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหว
ข้อเหวี่ยง – เปลี่ยนการหมุนเป็นการเคลื่อนไหวขึ้นลงไปมา
คาน - ใช้ทุนแรงโดยพึ่งกำลังจากจุดหมุน
เฟืองขับและเฟืองทด – ทำให้หมุนได้ไม่หยุดในทิศทางเดียวกันและรอบเท่าๆ กัน



แล้วเจ้าหุ่นไม้ทั้งหลายก็เคลื่อนไหวเป็นจังหวะด้วยท่วงท่าโยกย้ายๆ หมุน ขยับๆ จนเรารักและเอ็นดูพวกมันจับใจ

วันอังคารที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

นับถอยหลัง สัตว์วิกาล : ภาพเรืองแสงของอภิชาติพงศ์

กว่าจะเป็นหนังสืออภิชาติพงศ์ (ตอน 3)
By Ninamori

สัตว์วิกาล : ภาพเรืองแสงของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
หนังสือลำดับที่ 11 ของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Openbooks


หนังสือเกือบเสร็จแล้วจ้า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 ต।ค.) ท่ามกลางดงสาวสวยธรรมศาสตร์ พวกเรานัดดูปรู๊ฟดิจิตอลครั้งสุดท้ายก่อนพิมพ์จริง แต่วันนี้พี่เจ้ยไม่สามารถมาได้เนื่องจากติดธุระที่ต่างประเทศ

ทำหนังสือมาก็หลายเล่ม แต่ไม่มีครั้งไหนที่ตื่นเต้น ดีใจ และโล่งอกเท่าเล่มนี้ เพราะกว่าจะถึงวันนี้ก็กินเวลานานร่วมปี


(พี่เก่ง - ทีฆะเดช บรรณาธิการเล่มคนขยัน)

หนังสือสวยจัง ไซ้ส์พิเศษ เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร หน้าสี-ขาวดำพอรวมเล่มแล้วเท่เป็นบ้า พวกเราลูบๆ คลำๆ พลิกดูหลายรอบ มาตอนนี้ มันดูสวยกว่าตอนที่พวกเรตรวจต้นฉบับกันเสียอีก สมแล้วล่ะที่พี่เจ้ย พิถีพิถันดูแลอย่างใกล้ชิด แถมโค้งสุดท้ายพี่ท่านยังมีการเพิ่มรูปอีกต่างหาก



สิ่งไหนที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับ อภิชาติพงศ์ และทีมงาน หนังสือเล่มนี้ก็มีให้มากกว่าที่คุณจะเคยอ่านจากที่ไหน อีกทั้งบางอย่างที่อภิชาติพงศ์ เองก็อยากรู้ (เขาถึงได้ทำหนังสือหรือทำหนังขึ้นมาไง) จำได้ว่าฉันเองก็ดีใจ เพราะตอนตรวจต้นฉบับแอบเห็นพี่เจ้ยนั่งขำเป็นระยะ ๆ ขณะอ่านคำให้การของทีมงาน

นี่เรียกได้ว่าเป็นเล่มแรกที่ทางสำนักพิมพ์โอเพ่นทุ่มทุนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ทำหนังสือมา ทุกคนที่ OPENBOOKS รวมทั้ง Filmvirus ภูมิใจกับงานชิ้นนี้มาก เรียกได้ว่าถ้า ฟิล์มไวรัส เลือกที่จะปิดท้ายงานพิมพ์หนังสือด้วยเล่มนี้ แทนที่จะเป็นเล่มของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้ (ตามที่ตั้งใจแต่แรก) มันก็นับว่าสวยงามลงตัวที่สุด

(หญิง - สินีนาถ ฝ่ายประสานงานจากสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์)

นับจากนี้อีกประมาณ 10 วัน หนังสือก็จะเสร็จ แต่กว่าจะวางตลาดทั่วไปคงต้องรอถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2550 ใครที่อยากได้ก่อนหนังสือที่พิมพ์เสร็จชุดแรกจำนวน 100 เล่ม จะมีจำหน่ายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 17-28 ตุลาคม 2550 เวลา 10.00 น.- 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ท่านใดไปงานหาซื้อได้ที่บู๊ท Openbooks (L 01 แพลนนารี่ ฮอลล์) และ Alternative Writer (โซน C1 บู๊ท N36) นะคะ

วันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

สัตว์วิกาล เปิดใจ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

กว่าจะเป็นหนังสืออภิชาติพงศ์ (ตอน 2)
ชื่อหนังสือคือ Unknown Forces : สัตว์วิกาล - ภาพเรืองแสงของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล



By Ninamori

ต่อจากตอนที่1 http://ninamori.blogspot.com/2007/07/unknown-forces_3454.html


ใครจะไปคิดว่าการทำหนังสือ Unknown Forces : สัตว์วิกาล - ภาพเรืองแสงของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เล่มนี้ เหมือนได้ไปอยู่ในกองถ่ายหนังอีกเรื่องของอภิชาติพงศ์ เพราะเขามักมีไอเดียใหม่ๆ มาเพิ่มเติมเสมอจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่... เฮ้ย ! เราว่าน่าจะมีส่วนนี้เพิ่มด้วยนะ เสียงนุ่มๆ อย่างสุภาพของเขาบอกให้ ทีฆะเดช -บรรณาธิการเล่ม) ช่วยเพิ่มเติมเนื้อหาในเล่ม

เมื่อแผนงานการจัดทำหนังสือทุกอย่างลงตัว เหล่านักเขียนและผู้มีส่วนร่วมต่างออกลู่วิ่งสุดตัว

เวลาผ่านไป ต้นฉบับของแต่ละคนก็เริ่มทยอยเข้ามา ด่านแรกที่ต้องทำคือตรวจสอบความเรียบร้อยของบทความก่อนที่จะลำเลียงส่งต่อให้กับคนทำอาร์ต

ด่านต่อไปที่ค่อนข้างทำให้ใครหลายคนปวดกระบาลคือการตั้งชื่อหนังสือ ตอนแรกยังมีแค่ชื่อ Unknown Forces ที่เดิมเป็นชื่องานแสดงศิลปะของพี่เจ้ยที่ต่างประเทศ ซึ่งตั้งใจให้เป็นชื่อหนังสือด้วย ต่างฝ่ายต่างรวมสมองช่วยกันตั้งชื่อ ชื่อแล้วชื่อเล่าที่เสนอไปล้วนยังไม่ถูกใจพี่เจ้ย จนกระทั่งสุดท้าย บรรณาธิการปากจัด – สนธยา ทรัพย์เย็น เสนอชื่อ สัตว์วิกาล - ภาพเรืองแสงของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับคำขยายความในภาษาอังกฤษ The Illumiated Art of Apichatpong Weerasethakul


ในช่วงที่อ่านต้นฉบับรอบแรกรู้สึกฮามาก อ่านไปหัวเราะไป สนธยา คิดถูกแล้วที่ให้ทีฆะเดชทำหนังสือเล่มนี้ เพราะนอกจากเขาเคยเป็นหนึ่งในกองถ่ายของพี่เจ้ยแล้ว เขายังสนิทสนมกับทีมงานในกองถ่ายเป็นอย่างดี ทำให้บทสัมภาษณ์ของเหล่าทีมงานออกมาสนุกสนานแบบไม่ต้องกั๊กกันเลย พวกเขาทำให้เรารู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับพี่เจ้ยที่ไม่เคยถูกเปิดเผยที่ไหนมาก่อน นับเป็นประสบการณ์ชีวิตนอกห้องเรียนที่ดีเลยทีเดียว

ส่วนบทความอื่นๆ ล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น เราเดินไต่ตัวหนังสือและดื่มด่ำผลงานต่างๆ มากมายของ อภิชาติพงศ์ ที่ไม่ใช่เฉพาะด้านภาพยนตร์เท่านั้น มันยังมีงานทางด้านศิลปะอีกมากที่รอแนะนำให้คุณเยี่ยมชม ยิ่งบทความเหล่านี้ได้ผ่านปลายปากกาของ พี่เจี๊ยบ- กฤติยา กาวีวงศ์ (เจ้าสำนัก จิม ทอมป์สัน), ไกรวุฒิ (หัวหน้ากองบรรณาธิการไบโอสโคป), วิวัฒน์ (กูรูฟิล์มไซเบอร์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม Filmsick), ทีฆะเดช แห่ง Thai Short Film รวมทั้งเป็นบรรณาธิการเล่มนี้ และบทความพิเศษ 2 ชิ้นโดย อภิชาติพงศ์ ที่มีทีเด็ดคือ การเผชิญหน้าระหว่าง เจ้ย กับ ทรนง ศรีเชื้อ ผู้กำกับสุดห้าวของวงการหนังไทย อีกทั้งยังมี 2 แขกรับเชิญพิเศษที่มาร่วมประกอบคำนิยมด้วยคือ อ.เบน เอนเดอร์สัน และ คุณมุกหอม

จาก Deadline ส่งต้นฉบับให้โอเพ่น ที่ขอเลื่อนไปเรื่อยๆ ด้วยปัญหายิบย่อยร้อยแปดพันเก้าจากปลาย มิ.ย. --> ก.ค. --> ส.ค. --> วันที่ 15 ก.ย. --> 17 ก.ย.--> 24 ก.ย. --> 28 ก.ย. และสุดท้ายต้นเดือนตุลาเพิ่งลากเข้าโรงพิมพ์ได้

ระหว่างรอโรงพิมพ์ทำคลอดหนังสือ ก่อนหน้านั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

วันที่ 16 ก.ย.50 หลังจากเสร็จสิ้นจากฉายหนังที่ ม.ธรรมศาสตร์ เราต่างเดินทางไปตามที่นัดหมายเพื่อตรวจต้นฉบับที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า บริเวณศูนย์อาหาร ชั้น 5 วันนั้นมี อภิชาติพงศ์, สนธยา, ทีฆะเดช และฉัน

นี่หรือพี่เจ้ย – อภิชาติพงศ์ เขาเป็นคนละเอียดมากเลยนะ ทั้งสุภาพอ่อนโยน เป็นคนเรียบง่าย และจริงใจเอามากๆ อันที่จริงเวลาของเขาน่าจะอยู่กับการคิดบทหนังหรือสร้างงานชิ้นต่อๆ ไป แต่เขากลับมานั่งจ๊กม๊กตรวจต้นฉบับกับพวกเรา 4 คน นับเป็นครั้งแรกในชีวิตการพิสูจน์อักษรที่อบอุ่นที่สุด ทุกคนนั่งทำงานจริงจัง แต่บางขณะก็พูดคุยกับพี่เจ้ยเรื่อยเปื่อย เพราะโอกาสที่จะได้มานั่งคุยกับเขาสบายๆ แบบนั้นนับว่าหาได้ยากมาก ๆ

เมื่อบทความชิ้นแรกถูกตรวจสอบ มันก็จะถูกส่งต่อให้คนที่ 2, 3 และ 4 เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจนห้างปิด แต่เรายังคงตรวจกันต่อ เวลาผ่านไปอีก 1 และ 2 ชั่วโมง พวกเราก็ยังตรวจกันต่อ หน่วยรักษาความปลอดภัยรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กับพวกเรา แต่เขาก็น่ารักพอที่ไม่เสียมารยาทมาไล่พวกเรา จนกระทั่งยามคนหนึ่งเริ่มไอเดียบรรเจิดปิดไฟบริเวณที่เรานั่ง แค่นั้นแหละวงแตก

หลังจากวันนั้นยังมีการตรวจต้นฉบับต่อไปอีกหลายครั้ง โดยพี่เจ้ยเป็นโต้โผหลัก ทั้งตรวจต้นฉบับที่พริ้นท์เป็นกระดาษ และบนจอคอมพิวเตอร์

มุมหนึ่งในสยามพารากอน 17 ก.ย. 50 เวลา 14.00 น.


วันนี้เป็นวันแรกที่เราทุกคนมาพบกันพร้อมหน้ากับเจ้าสำนักโอเพ่น - คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เพื่อพูดคุย ถึงรายละเอียดต่างๆ ที่อยากให้มี(เพิ่ม)ในหนังสือ ซึ่งก่อนหน้านั้นติดต่อผ่านตัวแทนคนขยันอย่างน้องหญิงมาตลอด เธอคอยอำนวยความสะดวกและเป็นที่ปรึกษาให้กับเราได้เป็นอย่างดี เพราะพี่โญมีงานแน่นเอี๊ยด นอกจากพี่โญจะเป็นผู้บริหาร/บรรณาธิการ สำนักพิมพ์โอเพ่นและโอเพ่นออนไลน์แล้ว เขายังมีบทบาทหลายอย่างทั้งเป็นนักคิดนักเขียน ออกพ็อตเก็ตบุ๊คดีๆ หลายเล่มที่เขียนเอง เป็นนักเขียนให้กับนิตยสารอื่นๆ หลายสำนัก เป็นพิธีกรและแขกรับเชิญตามเวทีสำคัญๆ นับไม่ถ้วน เป็นดีเจจัดรายการวิทยุ ร่วมกับ FAT RADIOPEN คลื่น FM 104.5 ชื่อรายการ “เปิดสมอง ลองตั้งคำถาม” ทุกคืนวันเสาร์ เวลา 20.00 – 21.30 น. และเขาคนนี้แหละที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยถูกเสนอชื่อจาก 10 ประเทศทั่วโลก เข้าชิงรางวัล British Council International Young Publisher of the Year 2005

พี่โญวันนี้ไม่เปลี่ยนเลย หน้าเด็กมาก เขาเป็นบรรณาธิการที่อายุน้อย ใจกว้าง กล้าคิดกล้าทำ คุยสนุก และยิ้มแย้ม เขาคอยหยอดมุขตลอดเวลา ทำให้พวกเราสนุกไปด้วย คุยงานไปหัวเราะไป พร้อมช่วยกันหารือเลือกปกหนังสือ การเจรจาวันนั้นลุล่วงด้วยดีพร้อมกับหน้าสีที่ต้องเพิ่มขึ้น กระดาษแบบที่พี่เจ้ยพอใจ ไซ้ส์หนังสือแบบแหวกแนว และปกที่ไม่เกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหม
.............................................................................................................

Unknown Forces : The Illumiated Art of Apichatpong Weerasethakul
สัตว์วิกาล - ภาพเรืองแสงของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
หนังสือขนาดพิเศษ 173 x 200 มม.
จำนวน 336 หน้า
หน้าขาวดำ ผสม หน้าสี
กระดาษ 2 แบบ (กระดาษปอนด์ถนอมสายตา + กระดาษอาร์ตแบบบาง (ในแบบที่พี่เจ้ยชอบ))
ราคา 300 บาท
พิมพ์จำนวนจำกัด