วันศุกร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

Childeater


Childeater
โดย Ninamori

หากฉันเป็นเด็กคนนั้นฉันคงกลัวจนตัวหด เพราะแค่ชื่อหนังก็ทำให้หัวใจเริ่มเต้นผิดจังหวะ ฉันจะเจาะรูเล็กๆ ที่ผนังด้านหน้าของบ้าน และจะอยู่ตรงนั้นคอยเฝ้ายามดูทุกคนที่ผ่านไปมา ฉันจะไม่นอนจนกว่าร่างกายทนไม่ไหว และฉันจะไม่ออกไปไหนจนกว่าจะแน่ใจว่าตำรวจจับตัวฆาตกรได้แล้ว

Childeater เป็นหนังสั้นยาว 11 นาที ปี 1989 กำกับโดย Jonathan Tammuz นำแสดงโดย Alun Armstrong, Lindsay Duncan และ Lucy Rivers วีดีโอเรื่องนี้ฉันได้อัดเทปไว้เมื่อคราวที่เคยฉายทางช่อง IBC

เด็กหญิงอายุ 10 ขวบถูกส่งตัวไปอยู่กับลุงและป้าที่ชนบท พวกผู้ใหญ่คงไม่อยากให้เธอร่วมเหตุการณ์นาทีระทึกในการให้กำเนิดทารกน้อยคนใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพราะเสียงกรีดร้องของแม่อาจทำให้เธอรู้สึกฝังใจไปตลอดชีวิตถึงความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสของการมีลูก

“ลุงชอบกินเด็กเล็กนะ” พ่อเลี้ยงพูดก่อนส่งเธอขึ้นรถด้วยรอยยิ้มเบิกบาน
เธอเอาหน้าแนบกระจกด้านหลังมองแม่ที่โบกมือลาด้วยความอาลัย
“หนูจะไม่ตั้งใจเป็นเด็กไม่ดี ขอให้แม่ปลอดภัย” เธอสวดมนต์ และพูดซ้ำไปมา
ความวิเวกวังเวงเข้ามาแทนที่ อากาศเย็นยะเยือกผิดปกติ
“ระวังลุงกินเด็ก” วิ่งพล่านอยู่ในหัวของเธอตลอดเส้นทาง

ที่บ้านลุงเธอเห็นกล่องเก่าๆ ใบหนึ่ง ของในนั้นทำให้เธอสะดุ้งโหยงเมื่อเห็นผมเปียของเด็กผู้หญิง มีกระดาษแผ่นหนึ่งตัดจากหนังสือพิมพ์ มันพาดหัวว่าเด็กหาย ใจเธอสั่นระริกถึงชะตากรรมของเด็กคนนั้น

ตลอดเวลาที่อยู่ในชนบทเธอไม่เคยสร้างปัญหาให้หนักใจ ทุกๆ วัน เธอจะคอยแอบดูลุงอยู่ห่างๆ ไม่ให้คลาดสายตา เธอรู้สึกถึงพฤติกรรมแปลกๆ ของลุง ครั้งหนึ่งเธอถึงกับวิ่งหน้าตั้ง เมื่อลุงมองเธอด้วยสายตาดุดัน เป็นผลทำให้เธอพลาดและกลิ้งตกลงมาจากที่สูง แต่ก็อุตส่าห์พยุงตัวหนีไปได้

ทั้งบรรยากาศ รอยหยักบนใบหน้าของลุง ความเวิ้งว้างทั้งในบ้านนอกบ้านชวนให้เรารู้สึกกลัวร่วมไปกับเธอ ต้นไม้น้อยใหญ่ และเนินหญ้าที่สูงๆ ต่ำๆ ล้วนเป็นใจสร้างเกราะกำบังอย่างดีให้ฆาตกรหลบซ่อน

“ลุงกินเด็ก” ยังวนเวียนอยู่ในหัวของเธอ

มันยุติธรรมดีแล้วหรือ ที่เด็กอย่างเธอต้องมาแบกภาระทางความรู้สึกที่หนักหน่วงเช่นนี้ ซ้ำเกิดในที่ๆ เธอไม่คุ้นเคย เธอจะหลับอย่างสนิทใจตอนกลางคืนได้อย่างไรในเมื่อคนกินเด็กก็นอนในบ้านเดียวกัน และในจิตนาการอย่างไร้ขีดจำกัดของเธอ มันไม่ใช่ความผิดของเธอแน่ๆ

เราอาจคุ้นชินกับการคิดแทนเด็ก เด็กจำนวนมากสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ไปพร้อมๆ กับคำแนะนำจากผู้ใหญ่อย่างมีเหตุผล

บ่ายวันหนึ่งเธอถามป้าถึงปมปริศนาเกี่ยวกับเด็กที่หายไป แล้วป้าก็เล่าเรื่องในอดีตที่แสนเศร้าอันเจ็บปวดให้เธอฟัง .... มันเป็นความผิดฝังใจที่ไม่ว่าใครก็ยากจะทนได้ แต่พระเจ้าก็เลือกลุง... ฯลฯ

เมื่อกำแพงความเชื่อผิดๆ ถูกโค่นพังลงมา เธอรู้สึกสงสารลุงจับใจ และเป็นฝ่ายเข้าหาลุงชวนพูดคุย
ฉันรู้สึกเศร้าใจไม่น้อยตอนที่เธอพูดว่า เธอรู้สึกผิดที่ทำให้แม่ลำบาก เธอบอกว่าตอนที่แม่คลอดเธอนั้น เธอทำให้แม่เกือบตาย มาคราวนี้เธอเลยกลัวมากๆ ไม่อยากให้แม่ตายเพราะคลอดน้อง

ฉันเองก็ไม่เข้าใจพวกผู้ใหญ่บางคนเหมือนกันว่าทำไมชอบหลอกเด็กเป็นงานอดิเรก นับว่าเธอยังโชคดีที่สุดท้ายก็ได้คุยกับผู้ใหญ่ที่ดีอย่างลุง เธอส่งลูกอมให้ลุงพร้อมด้วยรอยยิ้มน่ารัก เขาหยิบของในถุงให้เธอ เธอยื่นหนังสือให้เขา ลุงอ่านหนังสือให้เธอฟัง ทั้งสองนั่งกินลูกอมที่อร่อยอย่างมีความสุข ภาพค่อยขยายๆ กว้างขึ้น เห็นเนินหุบเขาที่ถูกลูบไล้ด้วยรอยแดดละมุนที่ลอดผ่านสายหมอก สองลุงหลานนั่งคู่กันท่ามกลางธรรมชาติอันอบอุ่น

ฉันประทับใจกับมิตรภาพที่กำลังเบ่งบานเช่นนี้จังเลย มันเป็นความเรียบง่ายที่สามารถทำให้คนที่ตกอยู่ในความโศกเศร้ากลับมีชีวิตอีกครั้งด้วยมิตรภาพอันบริสุทธิ์และเสียงหัวเราะของเด็ก

วันจันทร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ปฏิบัติการหนังทุนน้อย


ปฏิบัติการหนังทุนน้อย : Low Budget Films in Combat
หรือเรียกเต็มๆ ว่า ฟิล์มไวรัส เล่ม 5 ปฏิบัติการหนังทุนน้อย ตำนานแห่งชัยชนะของหนังเล็กใจลุย

เขินจนหน้าแดงกว่าจะตัดสินใจเขียนโปรโมทหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากตัวเองมีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์ แต่มานึกอีกทีได้ว่านี่คือพื้นที่ส่วนตัว ไม่เป็นไร เอ้า หน้าหนาหน่อย

เดิมทีบทความ ‘ปฏิบัติการหนังทุนน้อย’ เป็นชื่อคอลัมน์ที่ สนธยา ทรัพย์เย็น ตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน เพื่อทำเป็นคอลัมน์ประจำในนิตยสาร Filmview ของ บรรณาธิการ สุทธากร สันติธวัช

ยิ่งกว่า 108 พันเก้าเคล็ดลับฝันสู่ดวงดาวในการทำหนัง แม้จะมีเงินติดกระเป๋าไม่มาก คุณก็ทำหนังได้ เพราะผู้กำกับระดับโลกทั้ง 23 คน ในหนังสือเล่มนี้ เขาการันตีด้วยประสบการณ์โลดโผนแล้วว่ามันทำได้จริงจนคุณคาดไม่ถึง ขนาดบางคนลงทุนเพียงแค่แคะกระปุก แต่กลับประสบความสำเร็จทำรายได้มหาศาล อย่าง

โรเบิร์ต โรดิเกรซ (ผู้กำกับ Desperado, From Dusk Till Dawn, Sin City) เคยสนั่นวงการด้วยการทำหนังแอ็คชั่นเรื่อง El Mariachi ในราคาถูกที่สุดและโด่งดังที่สุดในอเมริกา

เควนติน ทาแรนทีโน่ (ผู้กำกับ Kill Bill, Pulp Fiction) สร้างความฮือฮากับการสลับเรื่องเล่าไปมาใน Reservoir Dogs และผู้กำกับอีกหลายคนอย่าง กิญแญร์โม่ เดล โตโร่ (Pan’s Labyrinth), ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า (The Godfather, Apocalypse Now), สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก, เดวิด ลิ้นช์ ฯลฯ ล้วนเริ่มต้นจากการทำหนังราคาประหยัดแทบทั้งสิ้น

หนังสือเล่มนี้จะเน้นโอกาสก้าวแรกในการเข้าสู่วงการ แนะแนวทางการพัฒนาบทหนัง การจุดประกายความคิดแปลกใหม่ และเส้นทางประสบการณ์ในการทำหนังทุนน้อย ที่กอบโกยความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงกลับมาได้มากกว่าเงินที่ลงทุนหลายเท่า

และเหล่าคนทำหนังทรหดอดทนบางคน ยังแนะนำทีเด็ดต่างๆ รวมทั้งกลยุทธ์การโกงทางธุรกิจ ที่จำเป็นสำหรับคนทำหนังทุกคนที่ต้องเรียนรู้ ทำอย่างไรให้รู้เท่าทัน และข้อควรระวังในการทำสัญญาเพื่อไม่ให้รายได้ภายหลังตกเป็นของนายทุนแต่เพียงผู้เดียว และอีกหลายเคล็ดลับสุดฮาที่คุณขำจนกลั้นหัวเราะไม่อยู่

และนี่คือรายชื่อผู้กำกับหน่วยกล้าตายที่ถ่ายทอดประสบการณ์อย่างเมามันส์ให้เราได้รับรู้
โรเจอร์ คอร์แมน, จอร์จ เอ. โรเมโร่, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า, จิม แม็คไบร์ด, สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก, ริชาร์ด ลิ้งค์เลเตอร์, เฮิร์ค ฮาร์วี่ย์, เวย์น หวัง, นีล ลาบิวต์, เควนติน ทาแรนทีโน่, โรเบิร์ต โรดริเกซ, กิญแญร์โม่ เดล โตโร่, จอห์น เซลส์, โจนาธาน เด็มมี่, แอนน์ ฮุย, ทอม นูแนน, จอห์น แคสซาเวทส์, เฮนรี่ แจ็กกล็อม, ดีเรค จาร์แมน, เดวิด ลิ้นช์, แฮล แฮร์ทลี่ย์, จิม จาร์มุช และคริสโตเฟอร์ มึ้นช์

ไม่ว่าคุณอยู่ในข่ายอยากทำหนัง ชอบดูหนัง หรือเพิ่งสนใจดูหนัง หนังสือเล่มนี้คือเพื่อนแท้ที่พร้อมร่วมเดินทางไปกับคุณ และรับประกันว่าเล่มนี้อ่านสนุก เข้าใจง่าย

ปฏิบัติการหนังทุนน้อย
สำนักพิมพ์ ‘เอาตัวเป็นหนัง’ (ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์)
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2550
ราคา 210 บาท (304 หน้า ด้วยกระดาษถนอมสายตา)

มีจำหน่ายที่ร้านคิโนคูนิยะ (สาขาพารากอนและอีเซตัน), ดอกหญ้า สยาม ซ.3, บุ๊คเชสท์ สยาม ซ.2, ศูนย์หนังสือจุฬา, ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์, อ๊อด จตุจักร, ร้านหนังสือในเครือซีเอ็ด และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
หรือสั่งซื้อที่สายส่ง ดวงกมลสมัย โทร 02-541-7375-6 หรือ โทร 02-541-7377
หรือ dktoday@dktoday.net

จากดวงใจ... ดวงกมล


บันทึกความทรงจำโดย โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด

เขาคือคนแรกที่สร้างความมั่นใจให้ฉันก้าวเดินไปข้างหน้า

คุณสุข สูงสว่างคือ ผู้ให้กำเนิดร้านหนังสือในเครือดวงกมล ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านหนังสือเก่าแก่ ขายหนังสือภาษาต่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย อีกทั้งเคยจัดพิมพ์นิตยสารวรรณกรรมระดับตำนานอย่าง โลกหนังสือและวรรณกรรมแปลคลาสสิกจำนวนมาก และเป็นผู้สร้างกระแสให้คนไทยรักการอ่านอย่างจริงจัง

บ้านนอกเข้ากรุง
บ่ายคล้อยปลายเดือนพฤษภาคม 2537 หน้าร้านหนังสือดวงกมล ซอยโรงหนังโอเอ
ชายสูงวัยสวมเสื้อคล้ายเจ็คเก็ตยี่ห้อ “ดวงกมล” เขาสะพายเป้ไว้บนหลัง
“มาหาใครครับ ? ” เขาถามฉัน
“มาสมัครงานค่ะ” ฉันตอบ แต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร
เขาเรียกพนักงานคนหนึ่งออกมาและให้พาฉันไปเขียนใบสมัครที่ฝ่ายบุคคล
วันรุ่งขึ้นฉันถึงมารู้ว่าเขาคือ คุณสุข สูงสว่าง ประธานบริษัทในเครือ ดี.เค.บุ๊คเฮ้าส์ (D.K. Book House)
เขาเป็นนายใหญ่ ผู้ซึ่งอ่านหนังสือทุกประเภท และเกิดมามีชีวิตเพื่ออ่านหนังสือ และดื่มไวน์

สองสามวันต่อมาคุณสุขเรียกฉันไปที่ห้องทำงานชั้น 3
เขาหยิบโบชัวร์ใบหนึ่งสีเขียวอมฟ้าพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตอย่างดีให้ฉันอ่าน
ใจฉันเต้นตุ๊บ...ๆ แรงและแรงขึ้นไม่เป็นจังหวะ ตัวหนังสือภาษาอังกฤษ ฉันพยายามอ่านช้าๆ ผิดๆ ถูกๆ ฉันรู้สึกดีขึ้นเมื่อเห็นรูปการ์ตูนน่ารัก เป็นรูปซูเปอร์แมนที่ใบหน้าคือคุณสุข บ่งบอกให้รู้ว่าเขาเป็นคนใจดี ในนั้นเขียนว่า “คุณสุข สูงสว่าง จะเปิดร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวบรวมหนังสือทุกประเภทจากทั่วทุกมุมโลก บนเนื้อที่... (เท่าสนามฟุตบอล) จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน และต้องการลบคำครหาที่ชาวต่างชาติชอบมองเมืองไทยว่าเป็นเมืองโสเภณี โดยเปลี่ยนความคิดพวกเขาใหม่ให้เป็นเมืองหนังสือแทน

My Superman, Mr. Suk Soongswang
คำสอนของคุณสุขก้องอยู่ในหัว “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ต่อให้จบแค่ ป.4 ก็สามารถทำงานใหญ่ได้ เพียงแต่ให้ทุกคนขยันทำงาน ซื่อสัตย์ อดทน มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ เพราะความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์จะเป็นพื้นฐานที่สามารถทำงานใหญ่และให้ความสุขที่ยันยืนแก่ชีวิตได้

สำหรับฉันแล้ว ดวงกมลเป็นเหมือนบ้าน พวกเรามีคุณตาผู้อารี คือคุณสุข มีพ่อคนขยันที่ทุ่มเททั้งชีวิตอย่าง คุณธเรศ คีรี และคุณสมบูรณ์ สกุลสุทธวงศ์ และมีแม่ผู้เสียสละ และทำงานหนักอย่าง คุณมัลลิกา คีรี แม้ผู้บริหารทุกคนมีงานล้นมือ แต่พวกเขาก็มอบความรัก ความอบอุ่น อบรมสั่งสอนพวกเราเสมือนหนึ่งเป็นลูกหลานในครอบครัว


ย้ายบ้านไปซีคอนสแควร์
เดือนกันยายน 2537 บริษัท ดี.เค. บุ๊คเฮ้าส์ จำกัด ย้ายไปอยู่ชั้น 3 ทางทิศใต้ของ ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ เป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา บนชั้นมีหนังสือมากกว่าล้านปก (แต่ละปกมีอย่างน้อย 5 เล่ม) ฉันกลายเป็นคนรวย (เพื่อน) ในทันที เพราะที่นี่มีพนักงานจำนวนกว่า 200 ชีวิต
พื้นที่ถูกจัดแบ่งเป็นส่วนๆ มีออฟฟิศ, หน้าร้าน, ครัวดวงกมล และห้องกิจกรรม ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ จัดฉายหนังหาดูยากจากนานาประเทศให้ชมฟรี


ฉันเห็นดาราครั้งแรกคนแล้วคนเล่าที่นี่ และมีทั้งดารา นักร้อง นักเขียน นักการเมือง และอีกหลายสาขาอาชีพ แวะเวียนมาหาขอพรจากคุณสุข อย่าง ต่อ – ต๋อง และอุดม แต้พานิช ...

ทุกๆ วันมีลูกค้าจำนวนมากมาอุดหนุนซื้อหนังสือให้ชื่นใจ เรามีพนักงาน 6 คน ประจำการที่แผนกแคชเชียร์ตรงด้านหน้าของร้าน ทุกคนล้วนบริการประทับใจด้วยรอยยิ้มสดใส แม้จะล่าช้าไปบ้างในวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดพิเศษ เนื่องจากมีลูกค้าเข้าแถวซื้อหนังสือปริมาณมาก

หนังสือขายได้ – เจ้านายมีความสุข - พวกเราทุกคนก็มีความสุข

ฉันอยู่มุมหนึ่งในส่วนของออฟฟิศ กระดาษแฟกซ์ม้วนแล้วม้วนเล่าถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร สำนักพิมพ์ต่างๆ จากทั่วสารทิศต่างส่งแฟกซ์เสนอหนังสือทุกประเภท จดหมายหลายสิบฉบับมาถึงคุณสุขทุกวัน เอกสารจำนวนมากจำแทบไม่ไหวจนต้องแยกเป็นร้อยๆ แฟ้มเรียงตามตัวอักษร

ห้องประชุมถูกเปิดปิดตลอดเวลา มีรอยนิ้วมือจากตัวแทนสำนักพิมพ์ทั้งไทยและฝรั่ง

ห้องลับแล
คุณสุขมีโต๊ะทำงานทำด้วยไม้ใหญ่มาก ปูด้วยผ้าฝ้ายสีเปลือกไข่ไก่และปล่อยให้ชายผ้าคลุมยาวเกือบถึงพื้น บนโต๊ะเต็มไปด้วยต้นฉบับหนังสือทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และเอกสารอื่นๆ ให้คุณสุขพิจารณา... ส่วนด้านข้างมีโต๊ะประชุมทำด้วยไม้เช่นกันแต่ใหญ่กว่าหลายเท่าวางติดกัน และอีกด้านเป็นชั้นหนังสือที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล

ด้วยความที่คุณสุขเป็นคนง่ายๆ เขาจึงเนรมิตให้ภายใต้โต๊ะทำงานของเขาเป็นอีกโลกส่วนตัว สำหรับพักผ่อนยามเมื่อยล้าจากการทำงาน ข้างในมีเก้าอี้ที่พับได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น

สำหรับพนักงานดวงกมลแล้ว คุณสุขคือคนเจ้านายใหญ่ที่รวยล้นฟ้า เป็นคนดังเพราะเราเห็นคุณสุขในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นประจำ แต่คุณสุขของพวกเราติดดิน เรียบง่าย ไม่ถือตัว ใจกว้างเท่ามหาสมุทร ชอบช่วยเหลือผู้คน และยิ้มทักทายพนักงานอย่างเป็นกันเอง

พวกเราหลายคนเคยนั่งรถมาทำงานพร้อมคุณสุข มันไม่ใช่รถเก๋งหรอกนะ แต่เป็นรถเมล์ คุณสุขเป็นคนที่ชอบนั่งรถเมล์มาก โดยเฉพาะรถเมล์เล็กสีเขียว 2 บาท 50

ฝันร้ายกลางเดือนหนาว
แม้ทุกอย่างจะไปได้สวย แต่เรื่องโชคชะตาไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ ปี 2542 เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ค่าของเงินต่างประเทศสูงมาก ร้านหนังสือดวงกมลได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากหนังสือส่วนใหญ่สั่งซื้อจากต่างประเทศและเป็นเครดิต ค่าของเงินที่เพิ่มขึ้นทำให้คุณสุขต้องเป็นหนี้เพิ่มอีกเท่าตัว ทุกอย่างหยุดชะงัก



ด้วยความที่คุณสุขเป็นคนรักภรรยามาก เมื่อเศรษฐกิจรุมเร้า แม้ว่าดวงกมลแต่ละสาขาจะแยกบริหารเด็ดขาด แต่คุณสุขก็ขอให้คุณธเรศ คีรี (ผู้จัดการ บริษัท ดวงกมลสมัย จำกัด) เป็นธุระส่งค่าเลี้ยงดูให้ภรรยาที่เมืองนอกแทน คุณธเรศรับปากอย่างไม่ลังเล แม้จำนวนแต่ละเดือนนับแสนบาทก็ตาม เขามุ่งมั่นทำให้คุณสุขผู้เป็นที่รักยิ่งจนถึงปัจจุบัน

ฉันนับถือคุณสุขเสมอ และชื่นชมลูกหลานของคุณสุขทุกคนอย่างสุดซึ้ง (คุณมัลลิกา คีรี, คุณธเรศ คีรี และคุณสมบูรณ์ สกุลสุทธวงศ์) แต่มันน่าแปลกที่ว่าสิ่งที่ฉันเห็นกับตามันช่างกลับตรงกันข้ามกับข่าวที่ออกไป เพราะนั่นคือเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่คุณสุขเลือก และไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้ มันทำให้ฉันกลัวตัวหนังสือบนกระดาษ



ในภาวะที่เลวร้าย หรือแทบทุกครั้งที่คุณสุขมีปัญหา เพียงแค่คุณสุขยกโทรศัพท์ ลูกหลานของเขาจะรีบมาหาทันที ต่างเป็นกำลังใจที่ดีให้กันเสมอ พวกเขาทุกข์ใจมาก แต่เขายังยิ้มสู้ และพวกเขาก็ช่วยเหลือกันหมดใจ ต่างร่วมกันแก้ไขจนปัญหาคลี่คลาย และไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค์ใดๆ ทั้งสิ้น
ในช่วงที่พวกเขาอยู่ด้วยกันต่างมีใจที่เข้มแข็ง ปล่อยวาง และมีความสุขได้ในทุกสถานการณ์

อีกหนึ่งความประทับใจที่ฉันเห็นจนชินตาคือ การดูแลเอาใจใส่ของคุณมัลลิกาที่มีต่อคุณสุข ขนาดที่เธอมีงานล้นมือ แต่ทุกครั้งที่คุณสุขเข้ามาในออฟฟิศ เธอจะรีบจัดเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพให้คุณสุขทานก่อนทำงานเสมอๆ

ความฝันของคุณสุข
คุณสุขคนนี้เป็นคนช่างฝันและไม่เคยอยู่นิ่ง เขามีความฝันมากมายที่อยากทำ เหล่านี้คือความฝันเพียงส่วนเสี้ยวของเขา
1. จัดพิมพ์งานของชาติ กอบจิตติ เสนอในต่างประเทศเพื่อให้นักเขียนไทยคนหนึ่งได้รับรางวัลโนเบล และหวังว่ากรุงเทพสามารถสร้าง เจมส์ จอยซ์ หรือ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ คนที่สองได้
2. พิมพ์หนังสือที่ให้คนอ่านรู้จักภูมิหลังของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เนื่องจากประเทศอาเซียนมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะไม่เข้าใจว่าวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ต้องนำเศรษฐกิจ
3. ทำหมู่บ้านนักเขียนนานาชาติ โดยจะขอร้องให้สถานทูตต่างๆ มาสร้างบ้านสักหลังสองหลัง แล้วใส่ชื่อของนักเขียนที่มีค่าที่สุด
4. และทำหนังสือ คู่มือเป็นนายกรัฐมนตรี คุณสุขตัดพ้อตัวเองว่าเป็นดอกทองในเมืองไทยที่ใครก็ตามมาเมืองไทยแล้วต้องมาหา แล้วก็ต้องมาบอกว่านายกฯ ยูไม่เก่ง

สัญญารัก
คุณสุขแต่งงานกับแหม่มเยอรมันชื่อ Kristin เธอเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก คุณสุขจะสั่งซื้อหนังสือพ็อตเก็ตบุ๊คจากต่างประเทศมาให้ภรรยาเป็นประจำ เมื่อหนังสือเต็มบ้านเลยเกิดไอเดียเปิดร้านหนังสือและขายหนังสือต่างประเทศเป็นเจ้าแรกของเมืองไทย โดยตั้งชื่อร้านว่า ‘ดวงกมล’ ซึ่งแปลว่า ‘จากดวงใจ’ และทั้งคู่มีพยานรักกำเนิดลูกสาวผู้น่ารักหนึ่งคนชื่อ Meilin

อาลัย แด่ คุณสุข
แม้คุณสุข สูงสว่าง จะจากพวกเราไปแล้ว แต่คุณงามความดีทุกอย่างที่คุณสุขได้มอบให้ พวกเราจะถือปฏิบัติด้วยความเคารพรัก และจะเป็นคนดีของสังคมตลอดไป

หมายเหตุ : ขอบคุณนิตยสาร ค.คน สำหรับภาพประกอบ (คุณสมบูรณ์, คุณธเรศ และคุณมัลลิกา)

วันจันทร์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

Don Quixote @ ธรรมศาสตร์

by Ninamori

หัวใจเต้นตุ๊บ...ๆ เพราะเรือที่นั่งมาดันเจอคลื่นลูกใหญ่ แต่ฉันก็มาถึงงาน ดอนกิโฆเต้ จนได้



ใครๆ เขาว่ากันว่า (รวมทั้งนักเขียนรางวัลโนเบล 100 ชีวิต) ดอนกิโฆเต้ เป็นนวนิยายเรื่องแรกของโลก มีผู้อ่านมากที่สุดในโลก ดีที่สุดในโลก และแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลก

ฉันมาก่อนงานเปิดเล็กน้อย มีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ฉันยืนใกล้ๆ คุณป้าท่านหนึ่ง คุณป้ากำลังคุยกับเพื่อนด้วยความตื่นเต้น... เปล่านะ ! คุณป้าไม่ได้พูดถึง ดอนกิโฆเต้... แต่แกกำลังพูดถึงคนที่แกปลื้มเอามากๆ คือท่านชวน หลีกภัย ที่วันนี้มาเป็นประธานเปิดงาน ต้องขอบคุณท่านชวนและดอนกิโฆเต้นะที่ทำให้คนแก่มีความสุข เนี่ย ขนาดยังไม่ได้อ่านหนังสือนะ!

ในงาน นิทรรศการหนังสือ “ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน” มีจัดแสดงหนังสือหายากเรื่องดอนกิโฆเต้หลายภาษา หนังสือขนาดใหญ่ฉบับโบราณของแท้ภาษาฝรั่งเศสก็มา มีแม่พิมพ์ที่เป็นแท่งเหล็ก และของที่ระลึกต่างๆ ที่ชาวสเปนภูมิใจเสนอทั้งธนบัตร เหรียญทองคำ แสตมป์ และของชำร่วยที่ทำด้วยทองแดงซึ่งล้วนหาดูไม่ง่ายนัก


หนังสือ ดอนกิโฆเต้ หลายเล่มปกสวยน่าอ่าน รวมทั้งฉบับภาษาไทยของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่ปกทำด้วยผ้า แต่เล่มหนามาก จัดจำหน่ายโดย บริษัท ดวงกมลสมัย จำกัด แต่ของฉันเล่มเล็กนิดเดียว เป็นของสำนักพิมพ์เม็ดทราย พิมพ์เมื่อปี 2535 เล่มละ 18 บาท

แล้วคนแต่ง ดอนกิโฆเต้ เป็นใคร มาจากไหนกันนะ

มิเกล์ เด เซร์บันเตส คือคนเขียนเรื่อง ดอนกิโฆเต้ ประวัติของเขาทำให้ฉันน้ำตาซึม เพราะในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่นั้นช่างตรงกันข้ามกับความดังของหนังสืออย่างสิ้นเชิง เพราะมันคือวิถีแห่งการต่อสู้กับความยากจน เขาอดมื้อกินมื้อ และมีหนี้สิน ซ้ำโชคร้ายบริสุทธิ์ ไม่มีใครทราบประวัติของเขาเลยในช่วง 20 ปีแรก รู้แต่เพียงว่าเขาเกิดที่เมือง Alcala de Henares ในปี 1547 เป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน พ่อชื่อ โรดริโก เด เซร์บันเตส เป็นศัลยแพทย์ที่มีฐานะยากจนและไม่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ไม่มีใครรู้เลยว่าเขาได้เรียนหนังสือหรือเปล่า


ชีวิตเริ่มมีประวัติเมื่ออายุ 22
เขาเคยสมัครเป็นทหารประจำการในกองอาสาสมัครสเปน ถูกส่งตัวไปรบที่อิตาลีและได้รับบาดเจ็บถูกยิงทำให้มือข้างซ้ายพิการ เขาเคยถูกโจรสลัดจับเป็นเชลยและถูกขายเป็นทาสถึง 5 ปี เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร เขาเคยเป็นนักเขียนหนังสือละครประมาณ 20-30 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องล้วนล้มเหลวไม่เป็นท่า

เขาอยู่อย่างยากลำบากวันแล้ววันเล่า จนถูกจำคุกจากหนี้สินอีกครั้งถึง 3 เดือน เพราะไม่มีเงินมาไถ่ตัว แต่การติดคุกครั้งนี้มีข้อดีเหมือนกัน เพราะ ดอนกิโฆเต้ เกิดที่นั้นโดยเขาเป็นทั้งพ่อและแม่ของเด็ก

ดอนกิโฆเต้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1605 หนังสือประสบผลสำเร็จอย่างล้นหลาม แต่เขาได้ค่าเรื่องเพียงน้อยนิด เพราะมีการลักลอบพิมพ์งานของเขาเป็นจำนวนมาก และในปีต่อมาเขาก็เสียชีวิต...
และนั่นคือประวัติเกี่ยวกับเขาโดยย่อ...



ดอนกิโฆเต้ ฯ ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพ ฯ
งานครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการร่วมมือระหว่าง สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิตยสาร ค คน สำนักพิมพ์ผีเสื้อ และ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)

นิยาย ดอนกิโฆเต้ ฉบับปกรูปโดมธรรมศาสตร์ ถูกจัดพิมพ์ขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อร่วมฉลองวาระสถาปนามหาวิทยาลัย และการเปิดสอนหลักสูตรภาษาสเปนเป็นครั้งแรกที่นี่

ระหว่างจัดงานมีการเสวนาจากผู้ชำนาญอย่าง อ.ทรงยศ แววหงษ์, คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี, อ.นุชธิดา ราศรีวิสุทธิ์, รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร, ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ,คุณมกุฏ อรฤดี และทีมจากนิตยสาร ค.คน เวียง วชิระ บัวสนธ์, สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ และ อธิคม คุณาวุฒิ ร่วมเสวนาให้ความรู้

ตัวฉันเป็นตัวแทน ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) มีส่วนร่วมเป็นผู้จัดกับเขาด้วยในการหาหนังดอนกิโฆเต้ 3 เวอร์ชั่น มาฉายมี เรื่อง Don Quixote สู่ฝัน... อันยิ่งใหญ่ (พูดอังกฤษบรรยายไทย) กำกับโดย Peter Yates , เรื่อง Don Quixote กำกับโดย Orson Welles และ เรื่อง Lost in La Mancha กำกับและเขียนบทโดย Keith Fulton, Louis Pepe


หากท่านใดที่ผ่านแถว ธรรมศาสตร์- สนามหลวง อยากเชิญชวนให้มาดูงานนี้ อาจจะหลังทำธุระหรือก่อนไปก่อม็อบก็ไม่ว่ากัน งานมีทุกวันถึงวันที่ 20 ก.ค.50 ส่วนวันที่ 14 ก.ค. เวลา 13.30 น. มีเสวนา “นวนิยายดีที่สุดในโลก : ดีอย่างไร” และหลังการเสวนาฉายภาพยนตร์ ดอนกิโฆเต้ : สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ของ Peter Yates


หมายเหตุ
http://dkfilmhouse.blogspot.com/2008/06/blog-post_17.html

Faraway, So Close !





Faraway, So Close !

by Ninamori

These are the best memories of my life.

The most wonderful gifts from faraway land.

วันเสาร์ที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การ์ตูนสาวมุสลิม


การ์ตูนสาวมุสลิม
โดย โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด

ระหว่างเดินร้านคิโนคูนิยะหาหนังสือฝากพี่น้องที่ยะหริ่ง ตาก็ไปสะดุดกับรูปการ์ตูนเด็กหญิงตัวจิ๋วที่คลุมศีรษะบนปกหนังสือ Persepolis ข้างในเป็นภาพลายเส้นขาวดำแบบเรียบง่ายไม่มีรายละเอียดมากนัก มันไม่ใช่การ์ตูนธรรมดาทั่วไป แต่เป็นนิยายภาพ (Graphic novel) บอกเล่าเหตุการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นจริงในอิหร่าน โดยทำให้เรื่องราวดูผ่อนคลายลง เพราะเล่าเรื่องผ่านการเติบโตของตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิง


มาร์จานี ซาตาร์ปี (Marjane Satrapi) สาวชาวอิหร่านวัย 38 ปี ผู้เขียนนิยายภาพเล่มนี้ที่นิตยสารไทม์ยกย่องว่าเป็นการ์ตูนที่ดีที่สุดของปี 2546 และติดอันดับหนังสือขายดีของหลายสำนัก การบอกเล่าเรื่องส่วนตัวของเธอตั้งแต่สมัยอยู่ที่อิหร่านและในต่างแดน ได้กลายเป็นกระจกส่องให้มองเห็นชีวิตคนอิหร่านทั้งประเทศที่ต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างยากลำบากท่ามกลางความไร้สาระของกฏข้อบังคับมากมายหลังการปฏิวัติ มีการกำหนดพื้นที่และจำกัดสิทธิสตรี นอกจากนี้มีการกวาดล้างวัฒนธรรมตะวันตก แม้แต่เรื่องการใส่เสื้อผ้าที่มีโลโก้ต่างแดน



อารมณ์ขันของเธอช่วยให้คนต่างศาสนาเข้าใจกรอบวัฒนธรรมอิสลามได้มากขึ้น ครั้นหนึ่งตอนที่เธอเป็นเด็กนั้นมองไม่เห็นความจำเป็นของผ้าคลุมศีรษะ เด็กบางคนคลุมผ้าไม่ถูกต้องและนำผ้ามาเล่นกระโดดแทนเชือก แต่ขณะที่เธอเดินไปกับพ่อแม่ร่วมการประท้วงเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ คณะปกครองหัวอนุรักษ์กลับหาเรื่องกับผู้หญิงที่ไม่คลุมผ้าจนถึงขั้นจราจล จริงอยู่ว่าการคลุมผ้าเป็นสิ่งที่สำรวมงดงาม แต่สำหรับเหตุผลในแบบที่เธอพบจากเจ้าหน้าที่สนามบินซึ่งคอยจุกจิกเรื่องผ้าคลุมผม เรียกร้องให้แบบฉบับของผู้หญิงที่ดีต้องคลุมผ้ายาวถึงตาตุ่มเพื่อจะได้ไม่เห็นการเคลื่อนไหวของบั้นท้ายนั้น มันชวนคิดว่าทำไมพวกเขาจึงมัวมานั่งจ้องก้นของผู้หญิงตั้งแต่แรก

ที่แย่กว่านั้นดันเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างอิรัก-อิหร่าน มีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ทุกคนต่างจิตเสีย เสียงปืน เสียงระเบิดดังกึกก้องในหัว กลายเป็นคนตกใจง่ายและเกิดความหวาดระแวงตลอดเวลา แม้กระทั่งเพื่อนสนิทของเธอก็ต้องลาโลกเพราะระเบิดลงกลางบ้านพอดีทำให้ทุกคนที่อยู่ในบ้านตายหมด

ท่ามกลางความวุ่นวายของบ้านเมือง แม้ว่าครอบครัวของเธอจะมีฐานะดี แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นที่ต้องประสบกับปัญหาข้าวยากหมากแพง บางครั้งแม่ของเธอซึ่งอับอายเพื่อนบ้าน ต้องทำท่าง่วนกับอาหารในครัว ทั้งๆ ที่จริงนั้นในหม้อมีแค่น้ำเปล่าเท่านั้น



สำหรับมาร์จานี แม้ว่าอิหร่านจะมีเรื่องเลวร้ายมากมาย แต่เธอก็รักถิ่นฐานบ้านเกิด เธอจึงรู้สึกอึดอัดทุกครั้งเมื่อเห็นสื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคนอิหร่านในทางลบ เพราะภาพเหล่านั้นถูกตัดต่อปรุงแต่งเกินจริง เธอจึงตัดสินใจทำหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่ออยากให้โลกรับรู้ในสัจธรรมที่ว่าไม่ว่าจะเป็นที่ไหนล้วนมีคนดีชั่วเหมือนกัน ใช่ว่าคนอิหร่านจะสมบูรณ์เลิศเลอ เพราะอำนาจและความเชื่อทางศาสนานั้นสามารถถูกคนบางกลุ่มชักนำไปในทางที่ผิดได้เสมอ และขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศอิหร่านนั้นไม่อยากให้มองว่าเป็นเพียงปัญหาของคนอิหร่านเท่านั้น แต่อยากให้มองว่าเป็นปัญหาที่อยากให้ชาวโลกร่วมกันช่วยเหลือ

แต่ดูเหมือนว่าปัญหาทั้งหลายยังยากเกินกว่าจะแก้ไขได้ นิยายภาพของเธอก็หวังเป็นเพียงแค่กระจกสะท้อนปัญหา ส่วนการแก้ปัญหาไม่ใช่หน้าที่ของศิลปิน แต่ในระดับหนึ่งเธอมองว่าการพยายามเปิดหูเปิดตาเรียนรู้วัฒนธรรมและสังคมที่ต่างออกไป จะช่วยให้มีมุมมองที่เปิดกว้างและรู้สึกเกลียดกันน้อยลง


ปัจจุบัน Persepolis ได้ทำเป็นหนังแอนิเมชั่นขาวดำสัญชาติฝรั่งเศส-อเมริกัน ซึ่งเธอลงมือกำกับเองร่วมกับเพื่อนสนิท และหนังก็ได้รับรางวัล Jury Prize ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุดอีกด้วย

หมายเหตุ :
1. ขณะนี้หนัง Persepolis ได้ถูกยกเลิกไปแล้วจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ ครั้งที่ 5 จากเดิมที่จะมีการเปิดฉายเป็นที่แรกในเอเซีย
2. บทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร คนมีสี คอลัมน์ ฟิล์มไวรัส ฉบับเดือนมิถุนายน 2550

วันพุธที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

กว่าจะเป็นหนังสือ อภิชาติพงศ์ : Unknown Forces






กว่าจะเป็นหนังสือ อภิชาติพงศ์ : Unknown Forces

by Ninamori

ช่วงต้นปี 2548 สนธยา ทรัพย์เย็น - เจ้าสำนักฟิล์มไวรัส เจอ ทีฆะเดช วัชรธานินทร์ – ผู้กำกับหนัง Ordinary Romance โดยบังเอิญหน้าโรงหนังสกาล่า ไม่น่าเชื่อว่าช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 10 นาที บทความรายงานกองถ่ายหนังของอภิชาติพงศ์ ก็งอกเงยขึ้นเพื่อหนังสือ ฟิล์มไวรัส 3 สนธยา เชิญชวนให้ทีฆะเดช เขียนบทความนั้นเพราะเห็นว่า ทีฆะเดช เคยเป็นทีมงานและรู้จักพลพรรคในกองถ่ายของพี่เจ้ยเป็นอย่างดี และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นโปรเจ็คท์ต่อมาซึ่งทั้งคู่ได้จับมือกันทำหนังสือหนังเล่มใหม่อีกเล่ม คราวนี้เกี่ยวกับหนังและงานศิลปะของ อภิชาติพงศ์ล้วน ๆ โดยได้เสนอคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าสำนักโอเพ่นบุ๊ค ซึ่งคุณภิญโญก็ตอบรับเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่พฤษภาคม 49

โทรศัพท์สองเครื่องจากสองทิศทางถูกเจ้าของมันใช้งานมากขึ้นและบ่อยขึ้น เสียงหัวเราะทั้งจากต้นทางและปลายทาง บ่งบอกถึงความสนุกสนานในการวาดอักษรของเนื้อหาหนังสือในเล่ม... งานเดินหน้าไปอีกขั้น

เมื่อทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่าง การนัดหมายกับพี่เจ้ย –อภิชาติพงศ์ ก็เกิดขึ้น เป็นการบอกกล่าวอย่างเป็นทางการถึงวัตถุประสงค์ที่จัดทำหนังสือ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการติดต่อเพียงทางโทรศัพท์เพื่อขออนุญาตให้ ทีฆะเดชตามถ่ายในกองถ่ายของพี่เจ้ย

ตอนเย็นช่วงเทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์ม ตุลาคม 2549 ทั้ง 3 หนุ่ม ก็มาเจอกันตามนัดหมายเพื่อตกลงรูปแบบและเนื้อหาของหนังสือให้ชัดเจนขึ้น เป้าหมายของพวกเขาคือบิ๊กซี สาขาราชดำริ

ไม่ได้เจอพี่เจ้ยนานมากแล้ว พี่เจ้ยวันนี้ ผู้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยให้ทั่วโลกได้รู้จัก ผู้มีศาสตร์และศิลป์สร้างสรรค์งานเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว เขาคือคนไทยเพียงคนเดียวที่นิตยสารฝรั่งเศส กาเย่ส์ ดู ซีนีม่า (Cahiers du Cinema) และ Film Comment ของอเมริกา ยกย่องและโปรโมทผลงานอย่างต่อเนื่องหลายฉบับ (“สัตว์ประหลาด!”ได้มีรูปขึ้นปกหนังสือกาเย่ส์ด้วย) แต่พี่เจ้ยวันนี้ยังเหมือนพี่เจ้ยคนเดิมที่เจอเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่ห้องฉายหนังดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ซีคอนสแควร์ ตอนที่เพิ่งเริ่มถ่ายหนังเรื่อง “ดอกฟ้าในมือมาร” (Mysterious Object at Noon) เขาเป็นคนสุภาพ อ่อนโยน ใส่ใจในทุกรายละเอียด และเป็นกันเองเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จำได้ว่าช่วงที่หยุดถ่ายทำหนังแต่ละคราว พี่เจ้ยยังมา ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ซีคอนสแควร์ กับพี่เคี้ยง (ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ –ต่อมากำกับ “จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว”) และนั่งดูหนังของโหวเสี่ยวเสี้ยนเรื่อง The Puppetmaster ด้วยกัน

และนั่นเป็นอีกจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เพราะพี่เจ้ยขอเปลี่ยนและเพิ่มเติมเนื้อหาของหนังสือ มีการเพิ่มรายละเอียดในส่วนทีมงาน โดยเขาจะเป็นคนเก็บภาพของเหล่าทีมงานคู่ทุกข์คู่ยากด้วยตัวเอง แถมยังเขียนบทความเพิ่มให้ด้วย

มีการนัดอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สองและสาม ที่บ้านของพี่เจ้ย มีการแบ่งงานกันทำ มีพี่เจี๊ยบ- กฤติยา กาวีวงศ์ – อดีตผู้บุกเบิก Project 304 และปัจจุบันเป็นผู้บริหารจิม ทอมป์สัน ไกรวุฒิ จุลพงศธร - หนึ่งในกองบก. คนเก่งจากนิตยสารไบโอสโคป และ Filmsick จอมขยันร่วมเขียนบทความในส่วนของหนังทดลอง หนังสั้นและหนังยาวทั้งหมดของพี่เจ้ย

จากโทรศัพท์สองเครื่องเพิ่มเป็นสามและสี่ มีการส่งอีเมล์เป็นระยะๆ ข่าวดีจากพี่เจ้ยบอกว่า Eungie Joo ผู้บริหารของ Cal Art (Gallery at REDCAT) ที่แคลิฟอร์เนีย อเมริกา และแกลเลอรี่ที่เม็กซิโก สนใจให้ทุนทำหนังสือดังกล่าวเป็นเวอร์ชั่นสองภาษาคืออังกฤษและสเปน โดยมีการทำเป็นกล่องบ๊อกซ์เซ็ต รวมกับเวอร์ชั่นไทย และจัดพิมพ์หนังสือในประเทศไทย

จากโปรเจ็คท์เล็กๆ กลายเป็นโปรเจ็คท์นานาชาติ ทางฟิล์มไวรัส พยายามติดต่อขอนัดทุกฝ่ายมาเจอกันอีกครั้งที่สตาร์บั๊ค สยามพารากอน วันที่ 11 มิ.ย.50 มีทั้งพี่เจ้ย ทีฆะเดช น้องก้อง (คนทำ Artwork) ทีมงานฟิล์มไวรัส 2 คน และคุณภิญโญ ซึ่งวันนั้นป่วยกะทันหันจึงส่งตัวแทนมาอีก 4 คน

สรุปว่า หนังสือ Unknown Forces จะพิมพ์ 3 ภาษาคือ
ภาษาไทยซึ่งเป็นต้นแบบของภาษาต่างประเทศ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ ความหนาประมาณ 300 หน้า
ส่วนภาษาอังกฤษและสเปนซึ่งแต่แรกคุยกันว่าอาจจะจัดพิมพ์ที่เมืองไทยทั้งหมด จัดพิมพ์โดย Gallery at REDCAT ประเทศอเมริกา และแกลเลอรี่ที่เม็กซิโก โดยรวมสองภาษาเป็นเล่มเดียวกัน หนา 400 หน้า พิมพ์จำนวน 2,000 เล่ม ขนาดของหนังสือทุกเวอร์ชั่นคือ 173 มม. x 200 มม. และมีการจัดทำกล่องหนังสือรวมทั้งสามภาษาส่งไปขายที่เมืองนอก โดยจัดส่งหนังสือที่เสร็จสมบูรณ์รวมทั้งภาษาไทยไปที่อเมริกา 2,000 เล่มและส่งที่เม็กซิโกซิตี้อีก 2,000 เล่ม

30 มิถุนายน 2550 งานบทความและบทสัมภาษณ์ในส่วนของ ทีฆะเดช เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ในช่วงรอต้นฉบับที่เหลือ ทางฟิล์มไวรัสได้ติดต่อสอบถามราคาค่าขนส่งจากที่ต่างๆ รวมทั้งไปรษณีย์เพื่อเปรียบเทียบราคา ซึ่งไปรษณีย์เป็นด่านแรกที่ตัดทิ้งออกไปเพราะค่าขนส่งแพงมากตกที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท

เราสอบถามบริการของ Atlas Transport บริษัทขนส่งเอกชนในเมืองไทยที่ราคาประหยัดที่สุดคือส่งโซนอเมริกันกิโลกรัมละ 150 บาท และที่ เม็กซิโกซิตี้ กิโลกรัมละ 200 บาท

นั่นหมายความว่าหนังสือทั้งหมดที่จะต้องส่งเมืองนอก 4,000 เล่ม น้ำหนักรวมโดยประมาณอยู่ที่ 3,600 กิโลกรัม คำนวณหลายตลบแล้วค่าขนส่งรวมค่าบริการอื่นๆ อีกจิปาถะอยู่ที่ 700,000 บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประเภทสิ้นเปลืองที่สูงมาก สูงกว่าค่าพิมพ์หนังสือหลายเท่า

เจ้าสำนักฟิล์มไวรัสส่งอีเมล์ติดต่อพี่เจ้ย (เพราะพี่เจ้ยไปต่างประเทศแล้ว) เพื่อให้พิจารณาระงับพิมพ์หนังสือฉบับภาษาต่างประเทศในเมืองไทย และให้ทุ่มใจทำงานที่ฉบับภาษาไทยเพียงอย่างเดียว ส่วนฉบับภาษาต่างประเทศนั้นให้ทางเมืองนอกพิมพ์เอง หากเขายังสนใจฉบับเล่มภาษาไทยไปขายในกล่องเดียวกัน ก็ให้ซื้อลิขสิทธิ์จากเมืองไทยทีหลังก็ได้

กว่าจะเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่งมันช่างหลายซับหลายซ้อน ฉันเห็นพวกเขาทำงาน สิ่งหนึ่งที่ฉันดีใจคือได้เห็นพวกเขาเหนื่อยและได้ลิ้มรสความสุขจากดอกผลของความเหนื่อยนั้น กำลังใจยังเป็นสิ่งจำเป็น แฟนคลับของกลุ่มฟิล์มไวรัส อย่าลืมติดตาม Unknown Forces เล่มนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Filmvirus Collection เล่มก่อนสุดท้าย (ที่จะจบลงด้วยหนังสือแปลของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้) คาดว่าจะพิมพ์เสร็จประมาณเดือนกันยายนนี้จ้า

เรียนยาวีนอกปอเนาะ (1)

ภาษายาวี หรือ ภาษามาลายู เป็นภาษาท้องถิ่นพื้นบ้านของคนไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม พูดกันใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางพื้นที่ในจังหวัดสตูลและสงขลา

ภาษายาวีเป็นภาษาที่ต่างจากภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง ด้วยความไม่คุ้นชินคุณอาจจะรู้สึกยาก แต่อย่าพึ่งท้อนะคะ เพราะเมื่อไรที่เริ่มพูดได้คุณจะรู้สึกสนุกในการค้นพบภาษาใหม่

ขอแนะนำเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่จะไปทำงาน ไปเที่ยว หรือทำธุระแถวจังหวัดดังกล่าว หากคุณพูดได้บ้างจะเป็นประโยชน์มากเพื่อเป็นใบเบิกทางให้การเดินทางของคุณมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน เพราะที่นั่นนอกจากรอยยิ้มที่เป็นมิตรแล้ว ทุกคนพร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือคุณ

ประโยคและคำเบื้องต้นที่ควรรู้

คำทักทายเมื่อเจอหน้ากัน
A : (พูดทักทาย) สวัสดี (ค่ะ/ครับ)
A : อัส สะ ลา มุ อา ลัย กุม

B : (ตอบรับ) สวัสดี (ค่ะ/ครับ)
B : วะ อา ลัย กุม มุ สะ ลาม
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คำสุภาพที่ใช้บ่อย
ภาษาไทย - - - - - - - - > ภาษายาวี

ขอบคุณ - - - - - - - - > ตีมอกาเซะ
ขอโทษ - - - - - - - - > มีเต๊าะมาอัส
สวย (ใช้กับคน) - - - - - > ยาเง๊าะ
สวย (ใช้กับสัตว์-สิ่งของ) - - > มอแล๊ะ


วันอังคารที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ห้องภาพนินาโมริ (1)







รอซีดะห์ กับ อัสมาอ์ ยุวมุสลิมตัวน้อย ชอบแช่เย็นที่บิ๊กซี เสียงดัง รอซีดะห์ชอบดึงจมูกตุ๊กตาเล่น ส่วนอีกคนจะรักษาจมูกที่เหลือให้อยู่นานที่สุด แต่ทั้งคู่เหมือนกันคือ จะดีใจมากๆ เมื่อได้ยินเสียงรถของบ๊ะห์ (พ่อ) กลับบ้านตอนเย็น

Enki Bilal มาเมืองไทย







Enki Bilal มาเมืองไทย
by Ninamori

จุ๊บบบ... เสียงจุ๊บของใครน่ะ ช่างน่ารักน่าชัง เสียงมันชวนให้มองหา เสียงจุ๊บจากด้านหน้าทีหลังที อุ๊ยอีกทีก็โผล่มาด้านข้าง จุ๊บ.. จุ๊บ.. คนฝรั่งเศสเขาทักทายกันปรู๊ดปร๊าดอย่างนี้นี่เอง วันนี้นอกจากจะได้ดูหนัง (สือ) พร้อมเจอเจ้าตัว Enki Bilal ตัวเป็นๆ แล้ว คนจุ๊บกันก็เป็นอะไรที่แปลกและน่าสนใจไม่น้อย แถมลีลาการจุ๊บของแต่ละคนก็ต่างกัน ผู้ชายที่ใส่เสื้อยืดคอกลมสีขาวยื่นปากยาวจุ๊บสาว ส่วนสาวเจ้าเสน่ห์ผมทองเม้มปากตัวเองเข้าหากันแล้วก็จุ๊บเพื่อนหญิง อุ๊ย ! ชายสุดหล่อคนนั้นทำปากเหมือนอมยิ้มแล้วจุ๊บเพื่อนชายของเขา แต่ไม่ว่าแบบไหน ต่างก็มีเสียง “จุ๊บ” ดังออกมา จุ๊บ...จุ๊บ

ย้อนไปสัก 13 ปีที่แล้ว ที่เจ้าสำนัก ฟิล์มไวรัส เคยอวดหนังสือของ Enki Bilal : La Trilogie Nikopol ที่ซื้อจากร้านดวงกมล ฯ สาขาสมาคมฝรั่งเศส แถมไม่เชื่อหูเลยว่า เขาซื้อมาในราคาเล่มละ 449 บาท เท่านั้น รูปเล่มใหญ่มาก ปกแข็ง กระดาษดี รูปสีทั้งเล่มเลย ฉันลองพลิกดูไปมา และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ได้ดูหนังสือการ์ตูนฝรั่งที่อ่านไม่ออกสักตัว และได้รู้จักงานของเขาอีกครั้ง เมื่อหนังของเขาฉายในโรงที่เมเจอร์ปิ่นเกล้า ช่วงกลางเดือนมีนาคม 49 น่าเศร้าแท้ที่ตอนนั้นมีคนแค่หยิบมือเพียง 5 คน และจากไปอย่างเงียบๆ
วันนั้นที่เซ็นทรัลเวิล์ด ฉันเห็นป้ายโปรโมทโดยบังเอิญบอกว่า Enki Bilal มาเมืองไทย ฉันอ่านป้ายซ้ำอีกครั้งก่อนเดินไปซื้อขนมจีนกินเป็นมื้อเย็น และกลับมาอ่านอีกรอบหลังจากขนมจีนบอกลาเพื่อนๆ มาอยู่ในท้องฉันหมดแล้ว

วันเปิดงาน 19 มิ.ย.50 ที่สมาคมฝรั่งเศส แฟนคลับจำนวนมากทั้งไทยและเทศ ทั้งที่เป็นตัวจริง กำลังจะจริง และยังไม่แน่ใจว่าจะเป็น ต่างพร้อมใจมาพิสูจน์ด้วยตัวเองถึงกิตติศัพท์คำล่ำลือ

ช่วงแจกลายเซ็น แฟนคลับเข้าแถวยาวเหยียด ฉันไปยืนดูหน้าโต๊ะที่เขานั่ง... โอ๊ย ! สวยจัง ไม่น่าล่ะมันถึงได้นาน เพราะนอกจากเซ็นชื่อแล้ว เขายังวาดรูปให้ด้วยล่ะ

วันรุ่งขึ้นฉันตามไปดูงานแสดงของเขาต่อที่ Tang Gallery ตึกสีลมแกลเลอเรีย มีทั้งหน้าเดิมจากเมื่อวานและหน้าใหม่มาเจอกันอีกครั้ง งานของ Enki Bilal เป็นงานที่น่าสนใจและแปลกตาดี มันเต็มไปด้วยสีสันและจินตนาการของโลกอนาคตที่ทันสมัยมาก มีรถลอยฟ้าขับเครื่องในอากาศ มีเทพอียิปต์ที่มีหัวเป็นนก มีหญิงสาวที่น้ำตาของเธอเป็นสีน้ำเงิน มีการบันทึกความจำของคนลงในแผ่นชิพ ไม่น่าเชื่อว่ากระดาษสีขาวธรรมดาๆ จะกลายเป็นภาพ 3 มิติที่ลอยเด้งออกมา วันนั้นมีโปสเตอร์ขายด้วยราคาใบละ 1,250 บาท หลายคนควักเงินถึง 5,000 บาท ซื้อเก็บไว้พร้อมขอลายเซ็นการันตีความภาคภูมิใจ

ส่วนในกลุ่มของเรา เจ้าสำนักฟิล์มไวรัส ขนหนังสือทั้งเวอร์ชั่น เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และไทย ส่วน ธเนศน์ เพื่อนของเราดึงดีวีดี Immortal กับ Nikopol ฉบับแปลไทยออกมาจากกระเป๋า และน้องสุดท้องในกลุ่ม น้องโซน ควักโปสเตอร์หนังขนาดใหญ่ยักษ์ที่ออกแบบโดย Bilal ซึ่งได้จากสมาคมฝรั่งเศสเมื่อหลายปีก่อน พวกเราขอลายเซ็น Enki Bilal เก็บไว้เป็นที่ระลึกเป็นหลักฐานว่า ครั้งหนึ่งนักวาดการ์ตูนแนวแปลกคนนี้ก็เคยมาเยือนบางกอกแล้ว

หมายเหตุ : เอื้อเฟื้อภาพประกอบโดย ฟิล์มไวรัส

สาวมุสลิมทำหนัง





สาวมุสลิมทำหนัง

โดย โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด

ซามีร่า มัคมาลบัฟ ไม่ได้เป็นแค่ลูกสาวของผู้กำกับชื่อดังอย่าง โมห์เซ่น มัคมาลบัฟ ที่ก่อตั้งโรงเรียนหนังมัคมาลบัฟ โดยไม่ง้อเงินรัฐบาล แต่เรียกได้ว่าเธอคือผู้กำกับหญิงชาวอิหร่านที่โลกรู้จักมากที่สุด อีกทั้งยังได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินภาพยนตร์ในเทศกาลใหญ่ๆ ทั้งเมือง คานส์, เวนิส และเบอร์ลิน

แม้ว่าเธอจะนับถือศาสนาอิสลามที่เต็มไปด้วยกฎเข้มงวด เช่นเรื่องดูหนังฟังเพลงที่มุสลิมใฝ่ดีพึงหลีกเลี่ยง แต่มุมมองละเอียดอ่อนของเธอได้ฉายให้คนดูหนังมองเห็นคุณค่าของชีวิตเรียบง่ายธรรมดา สิทธิ์และศักดิ์ศรีของมนุษย์ตาดำๆ ที่แม้ว่าภายนอกใจดำบาดหมาง แต่ในเนื้อแท้แล้วยังไม่สิ้นซึ่งมิตรภาพและความเอื้ออาทร

พ่อของเธอชักนำให้เธอมาแสดงเรื่อง The Cyclist ตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น ด้วยความหลงใหลในภาพยนตร์ ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมัธยม เพื่อมาเรียนหนังอย่างจริงจังที่โรงเรียนของครอบครัวพออายุ 18 ปี ก็ได้กำกับหนังยาวเรื่องแรกชื่อ The Apple เล่าชีวิตจริงของเด็กหญิง 2 คน ที่มีบุคลิกท่าทางการพูดไม่สมประกอบ เพราะถูกพ่อแม่แท้ๆ ขังไว้ในบ้านโดยไม่ให้ออกนอกรั้วบ้านนับ 10 ปี ด้วยความที่พ่อแม่ซึ่งเคร่งศาสนาและยากจนมาก กลัวว่าลูกสาวจะแปดเปื้อนมลทินจากสังคมภายนอก กว่าที่มูลนิธิปกป้องสิทธิเด็กจะเข้าไปยื่นมือช่วย เรื่องก็บานปลายไปโข ซ้ำยังถูกตั้งคำถามกลับว่าเสือกสอดกับครอบครัวเขาเสียนี่

หนังตั้งคำถามสำคัญว่าบางครั้งความถูกต้องสมบูรณ์แบบในสังคมนั้นเป็นไปได้ยาก ปัญหาไม่ได้มีที่มาจากเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมกันของทุกคนที่ต้องรับรู้และพยายามทำความเข้าใจ อีกทั้งความรักคือการดูแลคนที่เรารักให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตไม่ใช่หรอกหรือ หรือว่าที่แท้พ่อแม่ต่างหากที่เป็นพิษ

The Apple ทำให้เธอกลายเป็นผู้กำกับที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเชิญให้ไปฉายโชว์ที่เมืองคานส์ในปี 1998 และได้ฉายตามเทศกาลหนังนานาชาติต่างๆ กว่า 100 เทศกาล ใน 30 ประเทศ ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลามและกวาดรางวัลมากมายนับไม่ถ้วน แต่ในประเทศอิหร่านหนังกลับถูกรัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้เผยแพร่ แถมหาวิธีห้ามฉายแบบต่างๆ ทำให้มีคนอิหร่านจำนวนไม่มากนักที่ได้ชม The Apple

ส่วน หนังสั้น ตอน God, Construction and Destruction ในหนังชุด 11’9”01 ซามีร่าเป็น 1 ใน 11 ผู้กำกับจากทั่วโลกที่ถูกเชิญไปทำหนังเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ตึกเวิล์ดเทรด เธอถ่ายทอดมุมมองของเด็กลี้ภัยชาวอัฟกันในอิหร่านที่แม้ครูของพวกเขาจะพยายามสอนเท่าไร ก็ยังยากจะเข้าใจโศกนาฏกรรมครั้งนี้ในระนาบความหมายเดียวกัน โดยเปรียบเปรยว่าปัญหาความเป็นตายเฉพาะหน้ารายวันทำให้คนต่างชาติพันธุ์มองเหตุการณ์เดียวกันในมุมแคบ ๆ ที่แตกต่างกันมาก จนถึงระดับที่ไม่มีทางสื่อสารให้เข้าใจกันได้เลย อีกทั้งในหายนะแต่ละครั้งสิ่งสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนตาย แต่เพราะมันเป็นสัจธรรมของชีวิตที่สอดคล้องกันอย่างมีที่มาและที่ไป

ฮาน่า มัคมาลบัฟ น้องสาวของซามีร่าที่เรียนจบโรงเรียนทำหนังมัคมาลบัฟเช่นกัน ได้ถ่ายสารคดี Joy of Madness ซึ่งเป็นสารคดีเบื้องหลังหนังเรื่อง Blackboards ที่ซามีร่ากำกับ เราได้เห็นปัญหาในกองถ่ายหนังมากมาย ตั้งแต่การหาโลเกชั่น คัดเลือกชาวบ้านที่มีนิสัยเรื่องมากเหลือหลายมาเป็นนักแสดง เธอต้องมีความอดทนสูงต่ออุปสรรคและเรื่องกวนใจมากมาย แต่เราก็ได้เห็นว่าเธอตั้งใจจะต่อสู้เพื่อปากเสียงของชาวอัฟกันในอิหร่านมากแค่ไหน ความสำเร็จในชีวิตที่เธอได้มาตั้งแต่อายุน้อยจึงไม่ใช่เรื่องฟลุ้คแน่ๆ

สมกับการเป็นลูกสาวในตระกูลมัคมาลบัฟที่โด่งดังกันทั้งตระกูล เพราะหนังของเธอทุกเรื่องเป็นหนังที่เกี่ยวกับชีวิตของคนธรรมดาและคนกลุ่มน้อย ทำให้เรารู้สึกร่วมในเหตุการณ์ ได้ลิ้มรสความลำบาก และสะท้อนอีกด้านของชีวิตที่เราไม่เคยรับรู้ ทำให้มองเห็นข้อจำกัดของคน ต่อให้พวกเขากระทำผิดและมีความบกพร่องอย่างไร พวกเราก็เข้าใจได้ในข้อจำกัดและการตัดสินใจของพวกเขา เพราะพวกเขาทุกคนยังมีคุณค่าในตัวเองเสมอ *


หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นบทความแรกในชีวิต ภายใต้ข้อจำกัดของเนื้อที่ 1 หน้า A4 ตีพิมพ์ในนิตยสาร คนมีสี คอลัมน์ ฟิล์มไวรัส เมื่อ พฤษภาคม 2550