วันพุธที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ขยายวันแสดงงาน 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)



เผลอแป๊ปเดียว ก็ครบ 20 วัน นับตั้งแต่วันเปิดงานวันแรกเมื่อวันที่ 9 ม.ค.52 แต่งานนี้มีเฮ เพราะทางหอศิลป์ใจดีขยายเวลาให้เราแสดงงานได้ต่อถึงวันที่ 12 ก.พ. หากใครที่ยังไม่ได้มา ก็เชิญนะคะ จะมาเดี่ยวมาคู่ก็ยินดีต้อนรับคะ ก่อนปิดงานทางผู้จัดจะมีการฉายหนังรอบพิเศษอีกครั้ง ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรนั้นโปรดติดตามนะคะ

งานฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ เปิดให้ชมฟรีที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ถัดจากห้างมาบุญครอง เดินข้ามไฟแดงไปนิดเดียว ประตูทางเข้าก่อนป้ายรถเมล์แรก ตรงข้ามอุเทนถวาย)

หอศิลป์เปิดทุกวัน จันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00 น. – 19.00 น.
เสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00 น.-18.00 น.

ดูบรรยากาศงานวันเปิดได้ที่นี่คะ
http://ninamori.blogspot.com/2009/01/13-13th-anniversary-dkfilmhouse.html

วันจันทร์ที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 9 ห้องพิเศษ


หลังจากอูมีคลอดน้องแล้ว ฮาฟีสกลับจากโรงเรียนก็ไปเยี่ยมน้องที่โรงพยาบาล บังเอิญห้องพิเศษเต็ม เลยต้องอยู่ห้องรวมก่อน

ฮาฟีส : อูมี มาแลนิง ฮาฟีส เนาะ ตีโด ดืองา อูมี แดะฮ์
(แม่ คืนนี้ฮาฟีสนอนกับแม่น่ะ)

อูมี : นาตี วี บูเละ บีเละ พิเศษ ดูลู แดะฮ์, แอเซาะ ฮาฟีส กอฮอ มารี ตีโด ดืองา อูมี แดะฮ์
(รอให้ได้ห้องพิเศษก่อนนะ พรุ่งนี้ฮาฟีสค่อยมานอนกับแม่น่ะ)

ฮาฟีส : ซาบอ อาปอ ฮือ
(เพราะอะไรล่ะ)

อูมี : ซาบะ บีเละนิง ตะเดาะ ตือปะ ตีโด, ฮาฟีส กือนอ โดะ ตีโด อาตะฮ์ กีซี, ฮาฟีส ตีโด บูเละ เดาะ
(เพราะว่าห้องนี้ไม่มีที่นอน ฮาฟีสต้องนั่งหลับบนเก้าอี้ ฮาฟีสนอนได้มั๊ยล่ะ)

ฮาฟีส มองดูรอบๆ ห้อง ก็เห็นแต่ละเตียงมีเพียงเก้าอี้กลมๆ เพียงตัวเดียว ทำท่าคิดซักพัก ก็ผงกหัว แล้วตอบว่า

ฮาฟีส : กีตุฮ ฮาฟีส กือเละ ดูลู แดะฮ์, แอเซาะ ฮาฟีส เนาะ มารี ตีโด ดืองา อูมี แดะฮ์
(ถ้างั้น ฮาฟีสกลับก่อนน่ะ พรุ่งนี้ฮาฟีสจะมานอนกับแม่น่ะ)

บังเอิญตอนค่ำมีห้องพิเศษว่าง แต่เป็นห้องเก่าและเล็ก ซึ่งพยาบาลก็ถามว่าจะเอามั๊ย ก็ดีกว่านอนห้องรวมละน่ะ เลยตกลง และโทรศัพท์บอกอาบ๊ะซึ่งกลับไปส่งฮาฟีสที่บ้าน ให้พาฮาฟีสมาด้วยเพราะได้ห้องพิเศษแล้ว เมื่อฮาฟีสมาถึงก็ส่งยิ้มแต่ไกลดีใจมากที่จะได้นอนกับอูมี พอเข้ามาในห้องก็เดินสำรวจห้องก่อนเป็นอันดับแรก เปิดตู้เสื้อผ้า เปิดตู้เย็น เปิดประตูหลังห้อง เปิดประตูห้องน้ำ บังเอิญว่าประตูห้องน้ำมันเก่า ขอบประตูด้านล่างมันผุ และพองๆ ทำให้ปิดประตูได้ไม่สนิท ฮาฟีสก็พยายามกดประตูเพื่อจะให้ปิดให้สนิท แต่ก็ไม่สำเร็จ ปิดได้แต่มันจะแง้มๆ นิดหน่อย

ฮาฟีส : อูมี ห้องพิเศษ ก๊าปอ กอ...หระ
(แม่ ห้องพิเศษอะไร กิ๊กก๊อกชะมัดเลย)

ภาษาไทย = = = = = = = = > ภาษามลายู

คืนนี้ = = = = = = = = > มาแลนิง
นอน = = = = = = = = > ตีโดะ
รอ = = = = = = = = => นาตี
ได้มั๊ย = = = = = = = = > บูเละเดาะ
ห้อง = = = = = = = = > บีเละ
พรุ่งนี้ = = = = = = = = > แอเซาะ
ค่อยมา = = = = = = = = > กอฮอมารี
อะไร = = = = = = = = > อาปอ
ไม่มี = = = = = = = = > ตะเดาะ
เก้าอี้ = = = = = = = = > กีซี
กลับ = = = = = = = = > กือเละ
ก่อน= = = = = = = = > ดูลู
จะมา = = = = = = = = > เนาะมารี
กอหระ = = = = = = = = > กิ๊กก๊อก

อ่าน - เรียนยาวีนอกปอเนาะตอนเก่าๆ ได้ที่นี่คะ

เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 1 http://ninamori.blogspot.com/2007/07/1_2078.html

เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 2 อาหารอร้อยอร่อย
http://ninamori.blogspot.com/2007/08/blog-post_19.html

เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 3 วันกียามัต (วันสิ้นโลก)http://ninamori.blogspot.com/2007/09/3.html

เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 4 อยู่เวรยาม http://ninamori.blogspot.com/2007/09/4_24.html

เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 5 จอมวางแผน http://ninamori.blogspot.com/2007/09/5.html

เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 6 กวนโอ๊ย http://ninamori.blogspot.com/2007/11/6.html

เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 7 แค้นสุดๆ http://ninamori.blogspot.com/2008/06/7.html

เรียนยาวีนอกปอเนาะ ตอน 8 เหยียบโลก http://ninamori.blogspot.com/2008/06/8.html

วันอังคารที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) : 13th Anniversary D.K.Filmhouse (Filmvirus)


by Ninamori

นโยบายของ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)
คือ การเปิดประตูสู่โลกกว้างแห่งภาพยนตร์นานาชาติ ให้รับรู้ความเคลื่อนไหวของแสงสี กลิ่น รสที่หลายหลากทางภูมิปัญญา โดยพยายามไม่ยึดติดกับชื่อเสียงและความคลาสสิก เพราะตระหนักว่า คำ “ หนังดี ” นั้นพูดง่ายและไม่ใช่จุดจบ ดวงกมล-ฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) จึงขอเสนอหนังแปลกที่น่าสนใจ หาดูได้ยาก (ซึ่งไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อดูยากเสมอไป) ทว่าเน้นหนักในด้านคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์มากกว่าคุณค่าเชิงวัฒนธรรมหรือการโหยหาอดีต

ดังที่รู้กันว่าหนังดีที่สมบูรณ์แบบ ทุกคนเห็นพ้องกันนั้นเป็นไม่มี ทางดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ฯ ขอรับรองว่า มันเป็นความยิ่งหย่อนไม่น้อยกว่ากัน ในการที่หนังจะกล้าคิดอาจหาญให้แตกต่างออกไปจากหนังหมื่นล้านเรื่องที่คุณพานพบทุกวัน หวังว่าคุณคงได้พบหนังดังกล่าวในการมาเยี่ยมเยือนเรา


ศิลปะเป็นเหตุ
“ อะไรนะ เมื่อกี้พูดว่าอะไรนะ” ฉันถามเจ้าสำนัก (สนธยา ทรัพย์เย็น) ด้วยความตกใจเมื่อเขาบอกว่าจะแสดงงานศิลปะภาพยนตร์ในหอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันทีจริงฉันน่าจะชินและรู้สึกเฉยๆ กับผู้ชายคนนี้มากกว่า เพราะเขามักมีไอเดียแปลกๆ อยากทำโน่นนี่เสมอ



“ เอ้า เอาก็เอา ” ฉันตอบเขาไป แล้วเขาก็รีบเล่ารายละเอียดของงานด้วยแววตาที่ตื่นเต้นว่า เขาจะรวบรวมผลงานวิจารณ์หนังของนักวิจารณ์ทั้งหมดในเมืองไทย นับจากช่วงระยะเวลาที่เข้มข้นของงานวิจารณ์ตั้งแต่กลางทศวรรษ 80 – ปัจจุบัน พร้อมมีการเสวนาและฉายหนังด้วย ทีนี้แหละคนทั่วไปจะได้รู้สักทีว่าในโลกนี้ยังมีอาชีพนักวิจารณ์รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีเกียรติและน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แล้วเขาก็ตั้งชื่องานว่า “3 ทศวรรษศิลปะภาพยนตร์ผ่านงานวิจารณ์”

จากกระดาษเปล่าๆ สีขาว ปรากฏอักขระสวยงาม และสวยขึ้นอีกเมื่อ กัลปพฤกษ์ โอเคช่วยทำอาร์ทเวิรค์ตัวอย่างงานที่เตรียมไว้พร้อมภาพประกอบแนบไปกับโครงการเพื่อเสนอขอใช้สถานที่จัดงานให้หอศิลป์ฯ งานนี้เราต้องยื่นโครงการล่วงหน้าถึง 1 ปี เราใจตุ๊บๆ ตุ้มๆ เมื่อรู้ว่าในแต่ละปีจะมีศิลปินส่งโครงงานเยอะมากหลายร้อยชีวิต บางปีมีถึง 500 ศิลปิน แต่ปีหนึ่ง สามารถแสดงงานได้ประมาณ 50 ศิลปินเท่านั้น
เกิดอะไรขึ้น
ฉันเห็นเจ้าสำนัก กุมขมับ ถอนหายใจเฮือกๆ เมื่อสิ่งที่เขาตั้งใจอยากจัดงาน 3 ทศวรรษศิลปะภาพยนตร์ผ่านงานวิจารณ์ นั้นจำใจต้องยกเลิกไป มันไม่ใช่เหตุผลเพราะต้องใช้ทุนจัดงานค่อนข้างสูง (มาก) อย่างเดียว แต่มันมีเหตุผลอันเหลือเชื่อที่ว่าสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำและเชิดชูนักวิจารณ์นั้นกลับไม่ได้รับความร่วมมือจากนักวิจารณ์หนังเสียเอง ทั้งจากนักวิจารณ์รุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก

สลับตัวศิลปิน
เวลาเริ่มเหลือน้อยเต็มที เจ้าสำนักมาตัดสินใจในช่วงเส้นยาแดงผ่านแปดระหว่างรอวันเดดไลน์ที่นักวิจารณ์ส่งงาน ด้วยทนการนิ่งดูดายของนักวิจารณ์ไม่ไหว เขาตัดสินใจเปลี่ยนมาจัดงาน ฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) แทน หลังจากที่พยายามเชื้อเชิญคนวงการละครเวที วงการวรรณศิลป์ให้มาต่อสิทธิ์ขอใช้สถานที่ เพราะไหน ๆ ได้สิทธิ์เข้ารอบให้ใช้สถานที่มาทั้งทีก็ไม่อยากสูญเปล่าถูกทางหอศิลป์โมฆะยกเลิก แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีคนรับช่วง สุดท้ายก็อย่างที่เห็น งานของฟิล์มไวรัส เริ่มจัดขึ้นอย่างขาสั่นงันงก ไม่เคยมีประสบการณ์การจัดงานแสดงในแกลเลอรี่ ขั้นตอนการทำงาน หลักการที่ต้องทำมีอะไรบ้างก็ยังไม่รู้

กว่าจะถึงวันงาน
ต้องขอบคุณจากใจทั้งหมดที่มี ที่เพื่อนๆ น้องๆ ทุ่มเททั้งกายใจมาช่วย ทำให้งานออกมาสมบูรณ์เพอร์เฟ็กท์อย่างที่เห็น โดย
เฉพาะเกมแสวงบุญฮอลลีวู้ดเมกกะที่เจ้าสำนักออกแบบ
กว่าจะผ่านขั้นตอนแต่ละด่านช่างสาหัสเอาการ เริ่มจาก
ฝ่ายอาร์ทต้องดีไซน์วัดขนาดจนเหงื่อตกเพื่อให้ได้ดั่งใจผู้จัด100%
จากนั้นเป็นกระบวนการตัดสติ๊กเกอร์ พอตัดเสร็จ ก็ต้องแกะตัวอักษรทีละตัวอย่างใจเย็นที่สุด
พอแกะเสร็จแล้วก็ต้องมานั่งลอกสติ๊กเกอร์เป็นส่วนๆ แล้วมาแปะปะติดปะต่อบนพื้นให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน จนต้องก้มๆ เงยๆ จนหน้ามืดและปวดหลังไปตามๆ กัน แถมต้องอดหลับอดนอน กว่าจะกลับถึงบ้านตี 1 ตี 2 ขอบคุณด้วยความซาบซึ้งใจอีกครั้งนะคะ

ฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)
ทันทีที่ สนธยา ออกมากล่าวเปิดงาน วันศุกร์ ที่ 9 ม.ค.52 เวลา 18.00 น. ฉันเริ่มยืนไม่ติด เพราะแสงแฟลชจากกล้องหลายตัวสว่างวูบวาบ

ฉันเกรงว่าเขาจะเกร็งแล้วพูดไม่ออก แต่แล้วก็โล่งอกเพราะเขาสามารถคุมตัวเองไปได้ แถมวันนั้นพูดเยอะเป็นพิเศษ ฉันแอบถามตากล้อง
เหล่านั้นว่ามาจากไหน ถึงรู้ว่าเขาเป็นตากล้องของ ค.คน กับ จีเอ็ม และอีกหนึ่งหน่วยงานอิสระที่ทำสารคดีต่างๆ

บรรยากาศเปิดงานชื่นมื่น เห็นสนธยายิ้มน้อยยิ้มใหญ่ก่อนเปิดงานเสียอีก เพราะไกรวุฒินำรางวัลที่ทางไบโอสโคปมอบให้ฟิล์มไวรัส ปี 2008 และขอบคุณทุกกำลังใจที่มาร่วมงาน โดยเฉพาะเพื่อนหลายคนที่เดินทางไกลมาจากต่างจังหวัด

วันนั้นนอกจาก สนธยา ออกมาพูดบอกเล่าประสบการณ์การดูหนังของเขาในอดีตแล้ว ก็มีคุณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยมีคุณป๊อป-มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์


และ คุณสิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์ นั่งเชียร์อีกสองแรง จากนั้นก็มีการฉายฟิล์ม “โรงหนังอลังการ” ที่สนธยาถ่ายเองด้วยกล้องซูเปอร์ 8 มม. ความยาว 2 นาทีครึ่ง เกี่ยวกับกลุ่มคนดูหนังที่หน้าโรงหนังอลังการตรงหอศิลป์เจ้าฟ้า ระหว่างรอดูหนัง นักแสดงในหนัง (ที่ไม่รู้ตัว)


มีคุณสิทธิรักษ์ ตุลาพิทักษ์, คุณไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ, คุณสุภาพ หริมเทพาธิป, คุณโดม สุขวงศ์, คุณนรา, คุณสมชาติ บางแจ้ง, คุณดุลยสิทธิ์ นิยมกุล เป็นต้น เสียงหัวเราะดังขึ้นเป็นระยะเมื่อ สนธยา พากย์ว่าคนในหนังนั้นเป็นใครบ้าง เพราะภาพมันสปีดเร็วจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร นอกจากหนังของเขาแล้วยังมีฉายเพลงของ Christine Schafer และหนังสั้นของ Ulrike Ottinger ด้วย


งานมีอะไรบ้าง
ภายในงานมีผลงานแนะนำภาพยนตร์หลายสิบชิ้น ส่วนใหญ่เป็นกรอบภาพสรุปสั้น ๆ ถึงผู้กำกับหนังระดับยอดเซียนที่หนังสือในเครือฟิล์มไวรัสเคยจัดพิมพ์มา ทั้งที่พิมพ์เอง และที่จัดพิมพ์กับสำนักพิมพ์ openbooks และก็มีจัดแสดงชิ้นงานรวมหนังจับคู่ที่ให้เพื่อนนักวิจารณ์ช่วยคัดเลือกหนังควบในจินตนาการที่น่าจัดฉาย

แล้วยังมีจัดแสดงอุปกรณ์และกล้องฉายหนัง ฉายกิจกรรมต่างๆ ที่ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์เคยจัดงานมา ข่าวกิจกรรมการฉายหนังจากสื่อต่างๆ โปสเตอร์หนัง และมีจำหน่ายหนังสือในเครือฟิล์มไวรัส


และที่พิเศษสุดอย่างที่เกริ่นไปแล้ว เกมฮอลลีวู้ดเมกกะ (Hollywood Mecca) ที่พิสูจน์ว่าใครอยากจะไปฮอลลีวู้ด หรือไปสายนอกกระแส ผู้เล่นสามารถเลือกเดินหมากได้ตามโชคและรสนิยม แต่ประหลาดดีที่ใครเดินพบหนังบล็อคบัสเตอร์ก่อน ดูท่าว่าอนาคตจะรุ่งโรจน์กว่าเลือกทางใต้ดิน


ย้ำอีกครั้ง และขอเชิญชวนทุกท่าน
งานฉลอง 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) มีจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.52 – 28 ม.ค.52 ที่ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถัดจากห้างมาบุญครอง เดินข้ามไฟแดงไปนิดเดียว ประตูทางเข้าก่อนป้ายรถเมล์แรกนะคะ (ตรงข้ามกับโรงเรียนเตรียมอุดม)


ตั้งแต่ก่อตั้งมา 13 ปี งานนี้เป็นครั้งแรกและคงเป็นครั้งเดียวที่ฟิล์มไวรัสมีจัดฉลอง เพราะงานแบบนี้ต้องใช้งบสูงมาก ลำพังฟิล์มไวรัสเป็นเพียงหน่วยงานอิสระเท่านั้น ไม่มีรายได้ใดๆ จากการฉายหนังหรือจัดกิจกรรมต่างๆ ทุกกิจกรรมล้วนเป็นทุนส่วนตัวที่เก็บสะสมทีละเล็กละน้อยทั้งสิ้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาสัมผัส ให้กำลังใจ และทำความรู้จักกับชาวฟิล์มไวรัส ในงานแสดงศิลปะครั้งแรกของพวกเขาที่ไม่เหมือนใคร