หมายเหตุ : เดิมบทความนี้เคยตีพิมพ์ที่ บล็อก นิมิตวิกาล:
http://twilightvirus.blogspot.com/2008/09/convert.html
และ บล็อก กลแสง: http://atrickofthelight.wordpress.com/2008/09/24/atolbkiff12/
มูอัลลัฟ (The Convert) กำกับโดย ภาณุ อารี, ก้อง ฤทธิ์ดี, กวีนิพนธ์ เกตุประสิทธิ์
บทความโดย Ninamori
"การถ่ายทอดภาพจริงอย่างที่เห็นและเป็นอยู่นั้น เป็นคนละเรื่องกับการแสดงความเห็นดีเห็นงามของคนทำหนัง"
เมื่อไม่นานมานี้ที่ร้านอาหารอิสลาม มีเด็กผู้หญิงใส่ชุดเนตรนารีคนหนึ่ง เธอนับถือศาสนาพุทธ และเป็นลูกค้าประจำของร้าน เธอตะโกนบอกพ่อ ซึ่งเปิดร้านขายส้มตำไก่ย่างใกล้ๆ กัน เธอเห็นว่าร้านของพ่อไม่ค่อยมีลูกค้า แต่ร้านอิสลามมีคนเข้าร้านเยอะ เธอจึงบอกกับพ่อว่า “โตขึ้นหนูจะเปิดร้านอาหารอิสลาม” เธอเข้าใจว่าเพียงแค่เขียนป้ายว่า “ร้านอาหารอิสลาม” ก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว แต่เธอไม่ได้เข้าใจความหมายอย่างแท้จริงที่ว่าคนขายก็ต้องเป็นมุสลิมด้วย อาหารและเครื่องปรุงที่ใช้ก็ต้องสะอาดถูกหลักอนามัย ทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลือกอาหาร การล้างทำความสะอาด ตลอดจน การปรุงอาหาร ล้วนมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาทั้งสิ้น
ฉันว่ามันยากจริง ๆ ที่คนศาสนาอื่นจะเข้าใจคนศาสนาอิสลามได้แม้แต่น้อย แต่อย่างน้อยฉันก็ดีใจ ถ้าคนที่ต่างศาสนากันคนไหน ไม่หมดความพยายามที่จะเข้าใจกันและกันของพวกเขาไปเสียก่อน อย่างที่ได้เห็นจากหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง“มูอัลลัฟ” คือหนังเรื่องที่ว่า หนังเรื่องนี้มันกำเนิดจากการที่ 3 หนุ่มอิสลามอยากรู้ ว่าเพื่อนของเขาที่เป็นสาวไทยพุทธจะปรับตัวยังไง เมื่อได้มารักและแต่งงานกับผู้ชายอิสลาม
มันเป็นชีวิตคนธรรมดาเรียบ ๆ ง่าย ๆ ที่ไม่น่าจะประหลาดหรือดูสนุก แต่มันก็น่าแปลกที่ชีวิตเรียบง่ายแบบนี้นี่แหละที่น่าสนใจเอามาก ๆ ซึ่งที่จริงเราควรจะได้ดู หรือทำความรู้จักกันมาตั้งนานแล้ว แต่น่าเสียดายว่าไม่มีรายการทีวีช่องไหนสนใจไปบันทึกมา
สาว “จูน” เป็นคนที่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเอง เธอไม่ใช่คนที่จะรอหมอดูบอกดวง เมื่อเธอรู้ตัวเองแล้วว่ารักชอบกับ เอก – ผู้ชายอิสลาม เธอปรึกษากับพ่อ แล้วก็ตัดสินใจได้เลยว่าเธอจะเลือกทางชีวิตยังไง แม้ว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนชีวิตของเธออย่างหน้ามือเป็นหลังมือ สำหรับเธออะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ขอแค่ทำมันให้ดีที่สุดก็พอแล้วจูน เป็นคนต่างจังหวัดที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพอย่างอิสระเสรี เหมือนนกที่บินในอากาศ เธอเป็นคนสดใส คุยสนุก ยิ้มแย้ม และเข้ากับคนได้ง่าย เธอจึงมาอยู่ในใจฉันอย่างง่ายดาย เกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ฉันเฝ้าติดตามดูชีวิตของเธอกับแฟนหนุ่ม หนังถ่ายทอดเรื่องราวได้สะเทือนใจ ทำให้รู้จักรสชาติของชีวิต หลายๆ ฉาก ฉันถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เมื่อเห็นจูนลำบาก และยังมีอุปสรรคก้อนโตรอเธออยู่ บางครั้งรู้สึกว่าเธอจะยอมแพ้ไหมนะ เพราะแค่รักกันสองคนยังว่ายาก แต่นี่กฎเกณฑ์ทางศาสนาวัฒนธรรม มันทำให้ชีวิตที่ยุ่งยากพอแล้วยิ่งหนักหนาเข้าไปอีก ไม่ง่ายเลยหนอชีวิตคน อย่างไรก็เถอะ ฉันเฝ้าขอพรจากพระเจ้า ขอจงโปรดประทานให้เธอโชคดี ปลอดภัย
มูอัลลัฟ เป็นหนังที่แสดงชีวิตจริงของคนสองคน แม้ว่าจะเป็นชีวิตที่ถูกคัดเลือกมาแล้วจากฟุตเตจ 140 ม้วน ก็ตาม แต่มันก็บริสุทธิ์จากการปรุงแต่งหรือชี้นำ มันไม่ใช่หนังที่คนทำจะเข้าไปพยายามก้าวก่ายหรือประเมินตัวละครว่าเลือกทางชีวิตถูกหรือผิด หนังเลือกเส้นทางที่เหมาะกว่า คือ ไม่สนใจที่จะรับใช้แนวคิดสถาบันไหน หรือ หลักศีลธรรมของใคร โลกนี้ไม่ได้มีแต่หนังสารคดีแนวเก่าที่สอนการประพฤติตนให้ถูกหลักศาสนา หรือทำตัวสูงส่งประเมินจับผิดคนอื่น เพราะชีวิตจริงนั้นซับซ้อนกว่าระบบความคิดและอุดมการณ์ ที่สำคัญคือการถ่ายทอดภาพจริงอย่างที่เห็นและเป็นอยู่นั้น เป็นคนละเรื่องกับการแสดงความเห็นดีเห็นงามของคนทำหนัง
ในช่วงต้นเรื่องหนังได้พาคนดูทำความรู้จักกับชีวิตของจูน เธอเป็นคนขยัน และชอบหาประสบการณ์ชีวิต เธอบริหารจัดการเวลาได้อย่างลงตัว ทำงาน 2 อย่าง กลางวันเป็นสาวออฟฟิศให้กับนิตยสาร Daco งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน ต้องคอยแอ็คทีฟตัวเองตลอดว่า หาข้อมูลข่าวสารให้ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน (เมื่อก่อนฉันส่งโปรแกรมหนังของดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ ฯ ไปลง Daco เป็นประจำ ไม่แน่นะเราอาจเคยคุยกันทางโทรศัพท์มาแล้วก็เป็นได้) ส่วนหลังเลิกงานตอนเย็น เธอหารายได้พิเศษด้วยการขายเสื้อผ้ามือสอง ถึงจะเหนื่อยเมื่อยล้า แต่เธอก็มีความสุขในความสำเร็จจากหยาดเหงื่อของเธอ
บางคนอาจมองว่า “มูอัลลัฟ” ไม่ใช่หนังสารคดีที่สมบูรณ์ในแบบที่ควรจะเป็น ผู้กำกับต้องแจกแจงความถูกต้อง และรับผิดชอบกับสิ่งที่บุคคลในเรื่องทำ นั่นถือเป็นความคิดที่ผิดค่ะ ไม่ยุติธรรมเท่าไรนัก ขอแค่ผู้ชมอย่ายึดติดกับสูตรสำเร็จ ผู้กำกับเป็นเพียงผู้นำเสนอชีวิตของคนคนหนึ่ง และถ่ายทอดเรื่องราวให้เราได้รับรู้เท่านั้น ผู้กำกับไม่ใช่ผู้ตัดสินความถูกต้อง
ถามหน่อยเถอะ หากให้เลือกระหว่าง คน ชาติ ศาสนา... ว่าอย่างไหนสำคัญกว่า ก็คงเถียงกันใหญ่ เพราะสำหรับคนที่ขวาจัดก็จะมองว่า “ ชาติสิสำคัญที่สุด ต้องมาก่อนเหนือสิ่งอื่นใด ” แต่สำหรับคนที่เคร่งศาสนามากก็อาจมองว่า “ เฮ้ ! ศาสนาสิ ศาสนาต้องสำคัญกว่าอยู่แล้ว จะออกนอกหลู่นอกทางไม่ได้เด็ดขาด ” แต่บางทีนะ ถ้าแต่ละคนตอบอย่างจริงใจ ไม่ใช่หรอกหรือที่คุณค่าของจิตใจ “คน” นั้นควรจะเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญก่อนอื่น (ตราบใดที่เขาไม่ไปทำร้ายหรือลบหลู่ใคร) ส่วนกรอบเกณฑ์ทางสังคมน่ะก็จำเป็น แต่ไม่ใช่มีไว้ครอบหัวคิด สำหรับเรื่อง “ มูอัลลัฟ” อยากให้มองที่ตัวบุคคล ซึ่งเป็นแกนสำคัญของเรื่อง ก็พูดกันไม่ใช่หรือว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี แล้วถ้าคนเคร่งศาสนาประพฤติไม่เหมาะสม แถมแอบอ้างศาสนาทำลายคนอื่น เขายังเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า
จึงอยากให้ดูหนังอย่างเปิดใจ อย่าเพิ่งด่วนสรุปอะไรทั้งนั้น ให้ดูว่า จูน และ เอก นั้น เป็นคนไม่ดีจริงๆ หรือเปล่า ในโลกนี้ไม่มีใครอยากทำผิดหรอก ศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ยิ่งเป็นศาสนาที่ตัวเองไม่ได้นับถือตั้งแต่แรกยิ่งแล้วใหญ่ เพราะจะมีเรื่องให้เข้าใจผิดได้ง่ายๆ ชีวิตของจูนก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าเธอจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ชีวิตการเป็นมุสลิมเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น หนทางข้างหน้ายังอีกไกลโข แต่เราคนดูก็อดเป็นกำลังใจช่วยให้เขาพยายามฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้ ตอนแรกคนดูอาจมีอึ้ง เมื่อฟัง จูน ให้สัมภาษณ์ว่า รักชอบกับเอก หลังจากเพิ่งรู้จักกับเอกแค่ไม่ถึงอาทิตย์เท่านั้น อะไรทำให้เธอถึงตอบตกลงแต่งงานกับเอก ทำไมเธอถึงไว้วางใจเอกมากขนาดนั้น อะไรทำให้เธอเชื่อว่าเอกน่าจะเป็นผู้ชายคนสุดท้ายที่จะรักและดูแลเธอตลอดไป ส่วนเอก เราไม่สงสัยเท่าไรนัก เพราะเขาเฝ้าชื่นชมจูนอยู่ห่างๆ มานานเกือบ 4 ปี สำหรับเอกแล้ว เขามั่นใจว่า “จูน” คือ คู่ชีวิตที่พระเจ้าประทานมาให้และต้องการให้เขาดูแลเท่าชีวิต
ฟังดูชีวิตน่าจะไปได้สวยนะ แต่ยังก่อน ช้าก่อน เพราะนี่เป็นเพียงการทดสอบที่เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น เพราะ ความรักอาจสำคัญก็จริง แต่ชีวิตจริงคือความรับผิดชอบ สถานการณ์นั้นน่าเป็นห่วง เพราะค่ากินอยู่ในชีวิตประจำวันบังคับให้สองคนนี้ต้องกลับมาทำงานในกรุงเทพ มันยังมีปัญหาความหย่อนความเคร่งครัดในหลักปฏิบัติทางมุสลิม ซึ่งทั้ง จูน และ เอก ต่างก็เป็นความเด็ดเดี่ยวใจกล้าของ จูน ที่เดินหน้าแล้วไม่ยอมหันหลัง นั้นเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง เราคนดูเองก็ยิ่งสมควรเคารพ ยอมรับ และให้กำลังใจกับการตัดสินใจครั้งสำคัญอันนี้ เพราะมันไม่ใช่เพียงการเริ่มต้นชีวิตกับอีกหนึ่งคนเท่านั้น แต่มันเป็นการยินยอมตกลงใจที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ จากที่นับถือศาสนาพุทธ เปลี่ยนมาเป็นอิสลามตามสามี เรียกว่า “มูอัลลัฟ” (บุคคลต่างศาสนาที่เข้ารับเป็นอิสลาม) ซึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับหลักศาสนาที่รายล้อมด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย
เรียกได้ว่าชีวิตของสองคนนี้เป็นตัวอย่างของศรัทธาที่เราคนดูควรหล่อเลี้ยงไว้ให้ได้ นี่หรือพลังของความรัก มันช่างยิ่งใหญ่นัก มันมีอานุภาพที่สามารถทำให้คนคนหนึ่งก้าวไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ กล้าทำทุกสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต ยิ่งตอนที่รู้ว่าถึงเวลาถือศีลอดในเดือนรอมฏอน (1) ซึ่งเธอก็ทำได้ดี ผ่านบททดสอบนี้โดยไม่เป็นอะไร แถมยังสามารถทำงานบ้านปกติได้
และนี่คือชีวิตของ จูน ชีวิตที่ยังต้องต่อสู้อีกมากมาย ณ เวลานั้นตอนที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ แม้ว่าเธอจะเพิ่งเข้ารับเป็นอิสลามเพียงไม่กี่เดือน แต่เราก็เห็นความพยายามของเธอ และฉันเชื่อว่าในอนาคตเธอจะเป็นมุสลิมที่ดี ขอเป็นกำลังใจให้ จูน สู้ สู้เหนือสิ่งอื่นใด ฉันคิดว่าคนทำหนังสารคดีเรื่องนี้ขึ้นมานั้นได้ทำบุญวาสนาที่สุดพิเศษ การที่เราคนดูได้มีโอกาสเข้าไปติดตามดูชีวิตใกล้ชิดของเพื่อนมนุษย์สักคน โดยเฉพาะชีวิตที่มีค่ามีความหมายต่อชีวิตของคนแปลกหน้าอย่างฉันนั้น คงไม่มีของขวัญที่มีค่าแก่ชีวิตไปกว่านี้อีกแล้ว
(1) รอมฏอน คือ การงดอาหาร เครื่องดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่เช้ามืดถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ช่วงเวลา 4.30 น. ถึง 18.30 น. ในเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้เกิดความเสมอภาคระหว่างคนจนคนรวย เพราะความหิวโหยทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกถึงความอ่อนแอของตัวเอง เขาผู้นั้นจะไม่หยิ่งผยองอวดอ้างว่าตนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เกิดความเห็นอกเห็นใจ มีเมตตาอยากช่วยเหลือผู้ยากไร้ และในทางการแพทย์การอดอาหารถือว่าเป็นการล้างพิษที่ดีอย่างหนึ่ง
1 ความคิดเห็น:
มูอัลลัฟ และ Suddenly Last Summer จะเข้าฉายที่โรงหนังลิโด้เพียงโรงเดียว ตั้งแต่วันที่ 13-19 พ.ย.นี้ค่ะ
อย่าพลาด เพราะพลาดครั้งนี้อาจไม่มีให้ดูทางทีวีหรือดีวีดีอีก
มูอัลลัฟ จะมีรอบ 14.15 น. และ 20.15 น. (วันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบ 10.15)
Suddenly, Last Winter จะมีรอบ 12.15 น. 16.15 น. 18.15 น.
แสดงความคิดเห็น