วันเสาร์ที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

หนังซ้อนหนังของ โมห์เซ่น มัคมาลบัฟ

โดย โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด

อ่านบทความเกี่ยวกับ ซามีร่า มัคมาลบัฟ ในสาวมุสลิมทำหนังได้ที่นี่ค่ะ
http://ninamori.blogspot.com/2007/07/blog-post_03.html


เคยเขียนถึงลูกสาว ซามีร่า มัคมาลบัฟ มาแล้ว รอบนี้ขอเขียนถึงต้นแบบอย่าง โมห์เซ่น มัคมาลบัฟ ซึ่งไม่ใช่ใครอื่นไกลเขาคือพ่อของเธอนั่นเอง และที่น่าทึ่งคือสมาชิกทุกคนในครอบครัวมัคมาลบัฟ ทั้งเมีย ลูก หลาน และเหลน ล้วนได้เชื้อพรสวรรค์มาจากเขาไม่ทิ้งห่างกัน

หนังของ โมห์เซ่น ชวนให้นึกถึงเจ้าหน้าที่อนามัยในชนบทของชนบทอีกทีแถว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจเป็นเพราะงานของทั้งสองไม่ใช่เพียงให้เวลาเท่านั้น แต่ต้องมอบหัวใจด้วย เพื่อที่จะได้ดูแลและเข้าใจปัญหารายวันมากมายที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเรื่องจุกจิกต่างๆ ของชาวบ้าน การให้ความสำคัญต่อรายละเอียดเล็กๆ น้อย ๆ จึงเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ชีวิตซึ่งกันและกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนมีจิตสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและแบ่งปันให้สังคมรอบข้าง

อย่างหนัง 2 เรื่องที่จะพูดถึงนี้ ที่ผสมชั้นเชิงฉลาดคิดและความเป็นธรรมชาติจนยากที่จะแยกออกว่าฉากไหนคือการแสดงกันแน่ เพราะมันไม่มีพรมแดนแยกระหว่างของจริงกับของปลอม

ในหนังของ โมห์เซ่น เรื่อง Salaam Cinema ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อร่วมฉลองวาระ 100 ปีภาพยนตร์โลกในปี 1995 ฝูงชนจำนวนมากต่างเบียดเสียดพากันมาสมัครเป็นนักแสดงจนเกิดม็อบขนาดย่อมที่หน้าสตูดิโอ รั้วเหล็กแทบพังเมื่อใบสมัครถูกแจกจ่ายออกไป ทั้งหญิงชายต่างแย่งชิงแบบฟอร์มกันเหมือนคนบ้า พวกเขายืนรอทั้งวันเพื่อพบหน้าผู้กำกับ -คือตัว โมห์เซ่น เอง !!! พวกผู้ชายต่างแต่งหล่อเพื่อให้เป็นที่หมายตา ส่วนกลุ่มผู้หญิงดูกลมกลืนกันไปหมดในชุดผ้าคลุมยาวสีดำทั้งตัว มันน่าทึ่งที่ว่าขนาดบ้านเมืองของเขาผ่านปัญหาการปกครองที่หนักหนามา แต่ทุกคนยังบ้าดูหนังและทุ่มเทอยากแสดงหนังมาก ซ้ำยังมองหนังเป็นศิลปะที่จำเป็นต่อชีวิต และมีคุณค่าทางความหมายลึกซึ้งต่อโลกใบนี้

ฉากคัดเลือกรับสมัครตัวแสดงดูเรียบง่ายเป็นธรรมชาติ แต่อยู่ๆ ผู้เขียนก็เกิดอาการคันมือคันเท้าเมื่อหญิงคนหนึ่งที่มาสมัคร เธอทำตัวน่าหงุดหงิดมาก จะเอาอย่างโน้นอย่างนี้ต่อรองผู้กำกับต่างๆ นาๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองจะแสดงได้หรือเปล่า บ้างก็กล้าเหลือเกินเถียง โมห์เซ่น แบบคำไม่ตกฟาก ไม่ก็อ้างว่าอุตส่าห์เดินทางมาไกล ฝันอยากเป็นดารามาตลอดชีวิต แต่พอบอกให้หัวเราะร้องไห้ก็เล่นตัวสารพัด

ส่วนบรรดาหนุ่มๆ ทั้งหลายต่างงัดความสามารถออกมาเต็มที่ จะให้ทำอะไรเหรอขอให้บอกทำได้หมดจด ทั้งท่าหมอบลงพื้น หลบระเบิด หรือจะให้ยิ้มใสซื่อโชว์เสน่ห์แพรวพราวเห็นทุกห้องหัวใจก็ทำได้ เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก บางคนบอกอย่างไม่เขินอายว่าตัวเองเหมาะที่จะเล่นหนัง เพราะหล่อเหมือนอแลง เดอลอง บางคนก็แกล้งเป็นคนตาบอดเรียกร้องความสนใจเพื่อจะได้สิทธิพิเศษ

ซึ่งภาพทั้งหมดที่เห็นร่วมทั้งฉากการสัมภาษณ์ เราต่างไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าไหนฉากจริง ไหนคือการแสดง ก็ขนาดผู้สมัครเองที่ผ่านการคัดเลือกแล้วยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าตัวเองได้เป็นนักแสดงแล้วจริงๆ หรือเปล่า ทั้งๆ ที่โมห์เซ่นตอบตกลงแล้ว

หนังจบพร้อมคำถามคาใจว่าตกลงทั้งหมดในหนังนี้มันของจริงหรือของปลอม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความขยันของตากล้องที่เก็บรายละเอียดภาพเหล่านั้น แต่ถ้าทั้งหมดเป็นการแสดง ฮอลลีวู้ดก็ควรศึกษาการแสดงจากชาวบ้านกลุ่มนี้ หรือว่าจริงๆ แล้วมีเพียงโมห์เซ่นคนเดียวเท่านั้นที่เป็นนักแสดง โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าหนังได้เริ่มถ่ายไปแล้ว

ส่วนเรื่อง A Moment of Innocence ที่โมห์เซ่น เองยังร่วมแสดงเหมือนเคยนั้น อาจถือเป็นภาคต่อจาก Salaam Cinema ก็ว่าได้เพราะนักแสดงบางคนจากเรื่องก่อนก็พากันมาโผล่ในเรื่องนี้ และยังคงสไตล์หนังซ้อนหนังอีกเช่นเคย เป็นการจำลองเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงระหว่างโมห์เซ่นกับเมอร์ฮาดี้ อดีตทหารยามในสมัยการปกครองของพระเจ้าชาห์ ซึ่งครั้งหนึ่งนานมาแล้วทั้งคู่ได้หลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน แต่ด้วยจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่าง โมห์เซ่น ได้นำหญิงสาวคนนั้นมาทำหน้าที่นกต่อ ทำทีเป็นถามเวลา ซึ่ง เมอร์ฮาดี้ ทำหน้าที่ประจำการอยู่ แต่บกพร่องต่อหน้าที่เพราะหัวใจไหวหวั่น สุดท้ายเหตุบานปลาย โมห์เซ่น ใช้มีดแทง เมอร์ฮาดี้ จนฝ่ายหนึ่งนอนโรงพยาบาล อีกฝ่ายติดคุก

หลายปีผ่านไป ชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้กำกับหนังของโมห์เซ่น ทำให้เมอร์ฮาดี้กลับมาทวงหนี้แค้นเก่าโดยการขอเป็นนักแสดง โมห์เซ่นจึงได้ไอเดียทำหนังจำลองอดีตระหว่างเขากับเมอร์ฮาดี้ โดยใช้นักแสดงหนุ่มหน้าใหม่ 2 คนแสดงเป็นตัวทั้งคู่ในอดีต แรกทีเดียว เมอร์ฮาดี้ ก็ผิดหวังอยากหาหนุ่มหล่อมาแสดงเป็นตัวเอง แต่แล้วก็ยอมจำนน ถูกบังคับให้ใช้หนุ่มที่ โมห์เซ่น เลือกมา เขาจึงก้มหน้าก้มตาฝึกฝนบุคลิกหนุ่มคนนั้นให้เล่นหนังออกมาดีที่สุด ส่วน โมห์เซ่น ก็จัดเตรียมตัวตนวัยหนุ่มของเขาเหมือนกัน รวมทั้งควานหาหญิงสาวเพื่อมาร่วมจำลองบทบาทครั้งสำคัญนี้ ซึ่งก็พบกับอุปสรรคบ้าง เช่น จำต้องเปลี่ยนตัวจากสาวคนแรกที่หมายตาไว้ ต่อมาพอเลือกสาวคนใหม่สำเร็จ ก็ต้องมาตระเตรียมให้เข้าฉากกับหนุ่มน้อยที่แสดงเป็นตัวเอง

และแล้วการเตรียมงานสร้างหนังก็ดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ขบขันตื่นเต้น พร้อมกับนำไปสู่บทสรุปที่ทุกฝ่ายซึ่งเคยร่วมในเหตุการณ์วันนั้นต่างลืมไม่ลง เพราะคนดูนั้นคงทั้งเอ็นดูและผูกพันกับเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของพวกเขา แล้วจะคอยลุ้นว่าเรื่องจะลงเอยด้วยความรุนแรงแบบในชีวิตจริง หรือคลี่คลายเป็นหนังในรูปแบบใด

น่าทึ่งที่ว่าบทสรุปสุดระทึกนี้แฝงสัมผัสนุ่มนวลแนวแปลกแนบมาด้วย การเลือกจบหนังลงด้วยเครื่องหมายคำถามในวินาทีเป็นตายของการตัดสินใจเลือก คือ “เลือก” ที่จะให้อภัย หรือ “เลือก” ที่จะใช้ความรุนแรงนั้น อาจจะทำให้คำว่า “สมานฉันท์” แบบพูดแต่เพียงลมปากของหลายสถาบันต้องกลายเป็นเรื่องตลกไปในทันใด

ไม่มีความคิดเห็น: