by Ninamori
ดีใจมาก ดีใจที่สุด ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตมีโอกาสได้เจอและติดตามชายที่ชื่อ เฟรด เคเลเม็น
แต่ก่อนหน้านั้น
“เหลือเชื่อ เขาตอบตกลงแล้ว เฟรดจะมาเมืองไทยแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยว่ะ” สนธยา - บ.ก. ฟิล์มไวรัส
พูดเสียงลั่น หลังจากได้รับอีเมล์ฉบับหนึ่ง ทำให้ฉันตื่นเต้นไปกับเขาด้วย
“จริงเหรอ ใครจะมานะ เมื่อไหร่ วันไหน” ฉันรีบหยิบปากกามาจด
อ้อ ! เฟรด เคเลเม็น ฉันคุ้นชื่อนี้เพราะเคยอ่านบทความใน ฟิล์มไวรัส เล่ม 2 ที่ สนธยา เขียนไว้ เมื่อคราวพบ เฟรด ครั้งแรกตอนเดินทางไปกับพี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ที่เทศกาลหนัง รอตเตอร์ดามปี 2000
1. จินตนาการนานาจิตตังถึง เฟรด เคเลเม็น
ตื่นเต้นจนได้ยินเสียงหัวใจเต้นออกมาข้างนอก
ช่วงนั้นไม่ว่าจะลุกจะนั่งจะยืนจะนอนหรือตื่นในหัวเต็มไปด้วยชื่อของเฟรด
เคเลเม็น
โอ๊ย ! ไม่ ไม่... เขาคงไม่ใช่ประเภทที่มีโลกของตัวเองสูง จู้จี้จุกจิกและเรื่องมากจนฉันผวานะ
“เขาสูงแค่นี้ได้มั๊ย” ฉันถามสนธยา “เขาอ้วนหรือผอม หนุ่มหรือแก่แล้ว” เพราะรูปในฟิล์มไวรัส
นั้นน่าจะเป็นรูปเก่า 15 ปีได้มั๊ง
ขอให้เฟรดนิสัยดีด้วยเถอะ......ไม่งั้น....ฉันนึกในใจ
“เจอเฟรดครั้งสุดท้ายตั้ง 7 ปีแล้วสินะ” ฉันถามอีก
7 ปีเหรอ ถ้าอย่างนั้นเฟรดตอนนี้ก็คงอ้วนตุ้บ แก่แล้วด้วย หวังว่ายังคงมีเค้าเดิมอยู่บ้างนะ
จะได้ทักคนไม่ผิด “ขอให้ เฟรด ไม่เรื่องมากด้วยเถอะ โอมเพี้ยง! ”
2. เฟรด ถึงเมืองไทย (29 ต.ค.50)
เขามาถึงแต่เช้า แต่หลังจากทานอาหารเช้ากับ วิคเตอร์ – เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ประธานงาน
เทศกาลภาพยนตร์ World Film เขาขอเลื่อนนัดเรา
ไปตอนบ่าย 2 และนัดเจอกันที่ล็อบบี้ของโรงแรม
Swissotel Le Concorde (เขียนแบบฝรั่งเศส) ถนนรัชดา ไกลจากโรงหนัง
Esplanade Cineplex
ตุ๊บปุ๊ป ๆ หัวใจฉันเต้นแปลกๆ ตาก็จ้องอยู่ที่ลิฟต์อย่างเดียว
“ไม่ใช่ คนนี้ก็ไม่น่าใช่ คนนี้ก็ไม่ใช่” ฉันสแกนดูชายทุกคนที่ออกจากลิฟต์
อุ๊ย ! คนนี้อ้วนเกิน ไม่น่าใช่ และระหว่างใช่ - ไม่ใช่อยู่นั้น ก็มีชายร่างสูงคนหนึ่งในชุดสีดำตลอดตัว
เดินออกมาจากลิฟต์ ตัวจริงตอนนี้เขาดูท้วมกว่าในรูป แต่หน้าตาของเขาก็ถือว่าดีถึงขั้นหล่อทีเดียว
แถมแจ็กเก็ตดำที่สวมทับก็ดูเท่มาก
อ้าว ! ใช่แน่ เราโบกมือส่งสัญญาณให้ Fred Kelemen เขายิ้มน้อย ๆ และตรงดิ่งมาเชคแฮนด์
3. งานเลี้ยง สหภาพยุโรป ส่วนหนึ่งของ World Film Festival
เราเริ่มสนิทกันอย่างรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม แม้จะมีแขกมากันเยอะ แต่ทั้งงานเราก็รู้จักกันแค่นี้
ทั้งเฟรด สนธยา และฉันจับกลุ่มกันแน่นหนา แหม...เฟรดก็ช่างน่ารักนะหยิบน้ำให้ดื่มและช่วยเก็บจานด้วย ทำให้ฉันผ่อนคลายไปเยอะ เพราะแน่ใจแล้วล่ะว่าเฟรดเป็นคนยังไง เขายังนำเราไปนั่งทานของว่างตรงบันไดทางเดินโดยไม่แคร์สายตาชาวโลก แปลกดีนะเขาเป็นคนเยอรมันแท้ ๆ แต่ไม่ดื่มเบียร์หรือไวน์ แต่ถ้าจำเป็นหรือโอกาสพิเศษ เขาก็จะดื่มไวน์เท่านั้น แล้วโลกการเรียนรู้อาหารไทยก็จบลง เมื่อเราแนะนำเขาให้ชิมทองหยอด “หวานไปหน่อย” เขาบอก ไม่นานนักก็มีนักข่าวจากช่องเคเบิ้ลทีวีมาขอตัวเขาไปสัมภาษณ์
4. ทีวีไทย
สนธยาถามเขาว่า “ขอโทษที วันนี้ไม่ได้พาไปไหน”
“ไม่เป็นไร ผมอยู่ในโรงแรมก็มีงานอะไรทำตลอด แล้วก็ตอบอีเมล์”
“ได้ดูทีวีของไทยบ้างมั๊ย”
“อ้อ ! เมื่อคืนได้ดูหน่อยนึง รู้สึกว่าทางรายการพยายามทำให้คนดูขำทุก ๆนาที เหมือนกับว่าถ้าไม่ได้หัวเราะแล้วอาจจะน่าระแวง กลายเป็นคนผิดปกติอะไรทำนองนั้น”
“เออแฮะ” สนธยาหัวเราะ “ทำไมพูดตรงใจเลย นี่ขนาดคุณเพิ่งมานะเนี่ย”
5. กรรมการตัวอย่าง
เขาไม่เคยพลาดดูหนังที่กรรมการต้องดูแม้แต่เรื่องเดียว
ช่วง 3 วัน 4 วัน คือนับจากวันแรกที่เขามาถึง ฉันเห็นเขาเดินวุ่น เข้าโรงนี้ออกโรงนั้นอย่างไม่
รู้จักเหน็ดเหนื่อย ข้าวเที่ยงก็ไม่กิน
“ทำไมไม่ดูดีวีดีที่ห้องล่ะ” สนธยาถาม เพราะเห็นกรรมการบางคนขนาดงานเริ่มตั้ง 2 วันแล้ว
ยังไม่โผล่เลย เพราะขอดีวีดีไปดูที่บ้านก่อนหน้านั้น
“อ้อ ! ผมชอบดูหนังในโรงมากกว่า ดูหนังให้ดีต้องดูในโรงนะ เพราะได้ทั้งบรรยากาศและเห็น
ภาพใกล้เคียงกับที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอมากที่สุด อีกอย่างมันก็ยุติธรรมกับคนสร้าง
มากกว่าด้วย”
เราบอกเขาว่าหนังของเขาเรื่อง Fallen ที่ฉายไปในงาน World Film รอบแรกนั้นภาพ
ถูกตัดหัวตลอดเรื่อง ซึ่งทำให้เฟรดเซ็งไปเลยที่ได้ยินว่าโรงหนัง Esplanade ไม่มีเลนส์
ฉายหนังที่มีขนาดเหมาะสมกับตัวฟิล์ม คือถ้าไม่ฉายตัดหัวก็ต้องตกคำบรรยาย จน
สุดท้ายเมื่อตอนฉายรอบสอง เฟรด ต้องมาคอยคุมคนฉายหนังให้ปรับภาพยกขึ้นลง
อยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ
6. กรุงเทพรถติด
ช่วงแรก ๆ เฟรดไม่ได้ไปไหนเลย เขาจึงนึกภาพ “รถติด” ไม่ออก
“ไปบ้านจิม ทอมป์สันกันมั๊ย” ฉันออกไอเดีย เพราะเห็นว่าเขาว่าง 3 ชม.ครึ่งในช่วงเช้า
ท่าทางเขาดีใจที่จะได้ไปที่อื่นบ้าง นาฬิกาเริ่มนับถอยหลัง ครึ่งชั่วโมงผ่านไปเขายังคุยกับ
สนธยาที่โรงแรม ฉันเริ่มนั่งไม่ติด เพราะกลัวว่าเขาจะกลับมาดูหนังไม่ทัน
“ต้องรีบแล้ว คุยต่อในรถแท็กซี่เถอะ” ฉันเร่งพวกเขา
“ทำไมเราไม่ไปเที่ยวนครวัดกันล่ะ เดินทางแค่ 2 ชั่วโมงเอง” เฟรด ออกไอเดียชวนไปกัมพูชา
“ไม่ได้นะ เป็นไปไม่ได้เลย” พวกเราตอบอย่างรวดเร็ว ขนาดแค่นั่งรถจากโรงแรมไปสนามบิน
และจากสนามบินมาเอสพลานาดรถก็ติดหลายชั่วโมงแล้ว นี่ยังไม่รวมเวลารอเครื่องอีกนะ
คุณกลับมาดูหนังไม่ทันแน่ ๆ " นี่ที่จริงเราอยากพาเขาไปเที่ยวลพบุรีมาก
แต่มาถึงตอนนี้ฉันว่าเฟรดเริ่มเข้าใจแล้วล่ะ เพราะรถที่เรานั่งไม่ขยับไปไหนเลย
7. บ้าน จิม ทอมป์สัน
รู้สึกชาไปทั้งตัว เมื่อไกด์นำชมบ้านกล่าวต้อนรับ ฉันมาที่นี่ก็หลายครั้งแต่ไม่เคยเจอไกด์หุ่นยนต์คนนี้ ทำให้รู้สึกอึดอัดบอกไม่ถูก
เธอเป็นคนไทยที่หน้าตาเหมือนฟิลิปปินส์ การพูดภาษาอังกฤษสำเนียงฝรั่งของเธอดูเน้นความพยายามรุนแรงมาก และทุกครั้งที่
เธอพูดเส้นเอ็นที่คอก็จะปูดโปนจนน่ากลัว และเธอก็ชอบกวาดสายตาดูลูกทัวร์ พร้อมกับแจกจ่ายรอยยิ้มโรบ็อทระหว่างคำพูด
ทุกประโยคของเธอด้วย มันสยองจริงๆ ค่ะ
ฉัน เฟรด และสนธยา มองหน้ากัน ไม่มีใครพูดอะไร ต่างยิ้ม แต่ฉันรู้ว่าเราคิดเหมือนกัน
ก่อนกลับฉันใจชื่นมาหน่อยเมื่อ เฟรด แวะที่ห้องขายของที่ระลึก เขาสนใจแผนผังดวงชะตา
วันเกิดลายโบราณ และซื้อไปฝากเพื่อนๆ ที่เยอรมนี เฟรดถามหาคำทำนายแบบที่เห็นใน
แค็ตตาล็อกตัวอย่าง เพราะถ้าได้แต่ตัวแผนผังก็อ่านไม่ออก พนักงานบอกว่ามี แต่ต้องเพิ่ม
เงิน เขาโอเคซื้อใบพยากรณ์ภาษาอังกฤษหนึ่งใบ และภาษาเยอรมันอีกต่างหากสำหรับ
เพื่อน จ่ายเงินเสร็จ เขาจะเดินเอาตัวอย่างกลับไปเก็บที่หิ้งในร้าน เพราะเกรงใจพนักงานที่
ต้องลุกจากเคาน์เตอร์เดินเปิดประตูไปอีกห้อง ขนาดพนักงานบอกไม่เป็นไร แต่เฟรด บอกว่า
“ไม่เป็นไรครับ ผมไปเก็บเอง ให้ผมเก็บเองดีกว่า คุณจะได้ไม่เสียเวลาเดินเข้าเดินออก”
8. วัดสีทอง
วันก่อน เฟรด ถามอีกว่า เขาอยากไปที่ ๆ เขาเห็นรูปในหนังสือเที่ยวเมืองไทย
แล้ว 3 ชม.ครึ่งของวันนี้ เราก็พาเขาไปวัดพระแก้วตามคำเรียกร้อง ตอนแรกสนธยาบอกว่ามันไกลเกินไป กลัวพาเขากลับมาดูหนังไม่ทัน แต่พอคิดดูอีกทีช่วง Master Class ที่ธรรมศาสตร์อาทิตย์หน้าเราอาจไม่มีเวลาพาเขาไปเลยก็เป็นได้
“ที่สุวรรณภูมิมียักษ์ตัวใหญ่มาก” เฟรดเล่าให้ฟังถึงภาพเมืองไทยที่เขาเห็นครั้งแรก
“นี่ไง คุณกำลังจะได้เห็นยักษ์แบบนั้น แล้วมีเพื่อนๆ ยักษ์ด้วยนะ” สนธยาบอกเฟรด
ไม่นานเราก็มาถึง ท่าทางเฟรดจะชอบที่นี่มาก เขาขอยืมกล้องเล็ก ๆ ของเราไปถ่ายรูป เราแปลกใจที่ผู้กำกับที่ถ่ายหนังเองทุกเรื่องอย่างเฟรด เคเลเม็น รีบแพ็คกระเป๋าเดินทางมาเมืองไทย จนลืมเอากล้องตัวเองมาหรือไง แต่ไม่กล้าถาม
ฉันเห็นเขาถ่ายหลังคาวัด + ยอดเจดีย์ (ที่ติดท้องฟ้า) และเขาก็ถ่ายคุณลุงชุดกากี คุณลุงที่ใช้มือเปล่าดับเปลวไฟเทียนด้วยสีหน้าธรรมดา แต่ไม่ธรรมดาสำหรับคนอื่น
9. มุมกาแฟ
เฟรดถามเราว่ายังมีเวลามั๊ย เขายังไม่อยากกลับตอนนี้
พวกเราจึงไปนั่งตรงระเบียงไม้ มุมหนึ่งของร้านขายเครื่องดื่มด้านในก่อนถึงทางออกวัดพระแก้ว
ที่นี่ดูร่มรื่นและมีกลิ่นหอมของดอกลีลาวดี
“จะดื่มน้ำอะไรดีครับ” เฟรดยืนถามข้างๆ
อ้อ! ไม่เป็นไรพวกเราจัดการเอง ว่าแต่เฟรดอยากดื่มน้ำอะไรดีล่ะ
“ไม่ ไม่ คุณนั่งตรงนี้แหละ ผมบริการเอง”
อ้าว! ถ้าอย่างนั้นเอาน้ำมะพร้าวก็แล้วกันนะ
แล้วเขาก็ตรงดิ่งไปสั่งที่เคาน์เตอร์และทยอยเสิร์ฟมะพร้าวลูกโตให้พวกเรา
แหม...มะพร้าวน้ำหอมบวกน้ำใจของเฟรด ช่างหวานหอมชุ่มฉ่ำใจแท้ และขณะที่กำลังแคะเนื้อมะพร้าวอย่างเมามัน เฟรดก็เล็งกล้องถ่ายรูปพวกเรา (ในระยะประชิด) ครั้นจะบอก “อย่าถ่าย”
ก็เสียดาย เพราะอยากรู้เหมือนกันว่ารูปที่เขาถ่ายจะออกมายังไงนะ
10. สวนสันติชัยปราการ (4 พ.ย.50)
เอาล่ะซิ ท่าทางวงดนตรีพื้นบ้านตรงสนามหญ้าด้านหน้าจะมัดใจเฟรดอยู่มัด เพราะทันทีที่เขาเห็น ก็หยุดนิ่งยืนดู นิ่งอยู่อย่างนั้นตั้งนานสองนาน สายตาเขาเหมือนกล้องที่ค่อยๆ แพนอย่างช้าๆ เก็บรายละเอียดต่างๆ ที่เห็นแล้วบันทึกไว้ในความทรงจำ วงนี้มีคุณลุงเป็นคนขับเสภา แกร้องเพลงได้เพราะมาก และสมาชิกวงอีก 4 คนคือ คนสีซอ เล่นตะเข้ ตีฉิ่ง และอีกหนึ่งคุณลุงก็เป็นคนขับเสภาเหมือนกัน แต่ระหว่างรอคิว แกก็จัดของในถุงกรอบแกรบของแกไปเรื่อย ถึงคิวปุ๊บแกก็ร้องได้ปั๊บ เราอยู่ที่นี่ได้พักใหญ่ก็เดินไปดู “เสียงกระซิบจากแม่น้ำ” ของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร ต่อด้วย “หมอลำกลอนโบราณ” ของคณะแม่ราตรี ศรีวิไล และลิเกแนวทดลอง “ลิขิตนาคา” ของคณะมะขามป้อม ที่เราลงคะแนนสีแดงด้วยความนับถือในฝีมือ และส่งท้ายด้วย “ใจยักษ์” ของกลุ่มเบบี้ไมม์กับแปดคูณแปดที่มี สุมณฑาและเพื่อนๆ นักแสดง เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมอย่างล้นหลาม
11. โปสการ์ด Fred Kelemen Master Class
ก่อนเราไปดูเทศกาลละครเวทีที่สวนสันติ ฯ เราชวนเฟรดไปเดินกระทบไหล่ชาวท่าพระจันทร์ สัมผัสชีวิตของผู้คนที่นี่
พวกเราเดินเรื่อยๆ จนถึง มหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นน้องๆ นั่งวาดรูปอย่างตั้งใจ ฉันนึกขึ้นได้ว่าในกระเป๋ามีโปสการ์ดอยู่ เลยแจกน้องๆ ทุกคนที่เดินผ่าน
ช่วงหนึ่งฉันเสียดายที่ไม่ทันให้โปสการ์ดกับ 2 สาว เพราะพวกเธอขึ้นรถเก๋งซะแล้ว
“มาผมช่วย” เฟรดอาสา แล้วรีบเดินไปเคาะกระจกรถ
ได้ผลแฮะ... เธอไขกระจก รับโปสการ์ด ยิ้มให้เฟรด ที่อธิบายอะไรสักอย่างให้เธอฟัง แล้วเธอก็ตอบ “ขอบคุณค่ะ”
และระหว่างนั่งสูดอากาศบริสุทธิ์ที่สวนแก้ว เฟรดขอดูโปสการ์ด แล้วถามว่า
“ในนี้เขียนว่าอะไร แปลให้ฟังหน่อยได้มั๊ย”
สนธยาก็เลยแปลให้ เฟรดตั้งใจฟังมาก เขาเป็นผู้ฟังที่ดีเหมือนโมโม่ที่ฉันรักหลงรักเลย
12. เรื่องผีผี (7 พ.ย.50)
ระหว่างนั่งทานข้าวที่ร้านแฮมล็อค ถนนพระอาทิตย์
“กลัวผีมั๊ย” อยู่ ๆ สนธยาก็ถามเฟรดขึ้นมา เขายิ้มและส่ายหน้ากับคำถามพิลึก
“แล้วเชื่อเรื่องผีมั๊ย” เขายิ้มและส่ายหน้าอีก
แต่พวกเขาไม่รู้หรอกว่า ไอ้คนที่กลัวผีจนหัวหดน่ะคือฉันเอง ฉันขยับเข้ามาใกล้ๆ พวกเขา
แล้วสนธยาก็เริ่มต้นเล่าด้วยการวางท่าทางแบบหมอผีผู้ชำนาญ “ในหนังผีของไทยต้องมีโอ่งด้วยนะ ผีจะทำท่าแลบลิ้นยาว ทำตาโตแบบตาโบ๋ให้คนกลัว แล้วก็จะมีฉากที่คนวิ่งหนีผี ผีเองก็วิ่งเหมือนกันนะ แล้วทั้งคนและผีก็วิ่งไปแอบในโอ่ง กี่คนๆ ก็ลงโอ่งใบเดียวกัน โอ่งก็ใบเล็กนิดเดียวเอง” เฟรดยิ้ม
“ แต่ จูออน - หนังผีเกาหลีน่ากลัวมากนะ สำหรับคนกลัวผีแล้ว ผ้าห่มคือที่พึ่งพิงที่ดีที่สุดใช่มั๊ยล่ะ แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า ไอ้ผีจูออนมันหลบอยู่ในผ้าห่มนั่น ทันทีที่คุณกระโดดขึ้นเตียงดึงผ้าห่มมาคลุมหน้า เราก็จะเห็นผ้าห่มค่อย ๆ โป่งขึ้นเรื่อย ๆ พอเลิกดูในผ้าห่ม หัวใจก็แทบโดดโหยง เห็นใต้เงาผ้ามี ดวงตาโตๆ แดงก่ำ แดงจนเห็นเส้นเลือดฝอยเลยนะ หน้าตาเนี่ยขาวจั๊ว มันค่อยๆ คลานเข้ามา ใกล้เข้ามา” เฟรดหัวเราะก๊ากเสียงดังลั่น
“อ้อ ! มีอีก มีอีก อันนี้เขาว่ามันเกิดขึ้นจริงในเมืองไทยนะ แถวๆ อีสานโน่น คือมีบริษัทฉายหนังเร่ถูกจ้างไปฉายหนังแถวป่าร้างแห่งหนึ่ง ตอนแรกคนฉายก็ขับรถหาที่ฉายกันจนหลงทาง แต่พอตั้งเครื่องเซ็ทจอเสร็จได้เวลาฉายก็ยังไม่เห็นคนโผล่มา จนกระทั่งรอไม่ไหวฉายไป ก็ค่อย ๆ มีเงาร่างชุดขาวโผล่มาทีละคนสองคน เดินกันมาดูหนังอย่างช้า ๆ ไม่มีใครส่งเสียงซักแอะ พอหนังจบก็ค่อย ๆ ลุกหายกันไปอย่างเงียบเชียบ เหมือนเมื่อตอนขามา เท่านั้นคนฉายหนังสองคนก็รีบเก็บของเผ่นกลับบ้านแทบไม่ทัน ขับรถหาทางออกไม่เจอ วนไปมาจนกระทั่งเช้าถึงออกถนนใหญ่ได้ แวะถามคนข้างทางบอกว่าแถวนั้นเดิมเป็นป่าช้า เงินที่ผีจ่ายมาก็กลายเป็นเงินปากผี ละลายกลายเป็นเศษดินเศษผง เรื่องแบบนี้เหมือนเคยเกิดกับหลายรายแล้ว มีคนเล่าหลายครั้งเลยแหละ รายละเอียดก็คล้าย ๆ กัน แต่ตอนนี้ได้ข่าวว่าเขาเอาไปทำเป็นหนังแล้วนะ”
เฟรด ฟังแล้วทำหน้าแปลก ๆ ดูไม่ออกว่าทึ่งหรือเหวอ สนธยาเลยเสริมว่า “สงสัยผีพวกนี้ตอนยังไม่ตาย คงเป็นคอหนังมั๊ง ขนาดตายแล้วยังมาจ้างไปฉายหนัง ถึงขนาดรวบรวมพลังงานสสารแปลงเป็นร่างคนไปที่บริษัทรับจ้างฉายหนัง พวกเขาคุยกันรู้เรื่องด้วยนะ ตกลงกันเสร็จสรรพ ผีจ่ายเงิน แล้วคนก็ไปฉายหนังให้ผีดู แต่สุดท้ายกลับโดนผีหลอก” เล่าได้เท่านี้ ทั้งเฟรดและพวกเราก็ขำกลิ้ง
13. เฟรดไม่ทานหมู
ดีใจจังที่รู้ว่าเฟรดไม่ทานหมู แม้จะคนละเหตุผลกับฉันก็ตาม
“ทำไมไม่ทานหมูล่ะ” พวกเราถามด้วยความสงสัย
แล้วเฟรดก็บอกว่า เพราะเนื้อหมูมันคล้ายกับเนื้อคนมากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ถ้านำเนื้อ 2 อย่างนี้วางใกล้ๆ กัน คุณจะไม่มีทางแยกออกเลยว่าอันไหนเป็นเนื้อคนอันไหนเป็นเนื้อหมู และโดยธรรมชาติเมื่อทานหมูเข้าไปแล้ว มันก็เป็นเนื้อชนิดเดียวที่จะกลืนไปกับร่างกายคน มันชอบเกาะตามส่วนต่างๆ อย่างคอ หน้าท้อง ต้นแขน ขา แถมยังทำให้เกิดโรคอื่นๆ มากมายตามมาอีกด้วย
14. ของว่าง (8 พ.ย.50)
หลังจากที่เฟรดทานอาหารจานหลักเสร็จแล้ว แต่เขายังคุยธุระกับโสรยา (ผู้กำกับ Final Score 365 วัน) ยังไม่เสร็จ เราเลยสั่งเมี่ยงคำมากินเล่น ฉันจัดชุดหนึ่งส่งให้เขา
เฟรดรับและถามว่า “อะไรเหรอ กินได้แน่นะ” แล้วก็ทำท่าจะใส่ปาก แต่ก็หยุดชะงักและถามอีกครั้งเพื่อความแน่ใจว่า “ใบไม้นี่ มันกินได้จริงๆ แน่นะ” ทุกคนพยักหน้าอย่างพร้อมเพรียงและแอบขำกับท่าทีตื่น ๆ ของเขา สนธยาเลยนำกินให้ดูเป็นตัวอย่าง เท่านั้นแหละ เฟรดถึงกินอย่างสบายใจ
แล้วทุกคนก็เห็นพ้องกันว่า หน้าตาเมี่ยงไทยมันอาจดูแปลก แต่อร่อยดีนะ
15. โปรเจ็คท์หน้า
สืบเนื่องจากงานราตรีวิเวกของเฟรด เคเลเม็น พวกเราทั้งทึ่งกับผลงานภาพยนตร์และความสามารถอันเหลือเฟือในการถ่ายทอดความรู้ด้านภาพยนตร์ของเขาทั้งในสเปนและแลตเวีย สนธยาจึงเกิดไอเดียที่อยากให้มี Workshop สอนทำหนังในมหาวิทยาลัยสักแห่งในเมืองไทย โดยให้ เฟรด เป็นอาจารย์ผู้สอน
และคุณโสรยา คือคนแรกที่ติดต่อ เพราะเธอมาดูหนังเฟรดครบทุกเรื่อง และยังเป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ด้วย ผลก็คือทั้งเธอและหัวหน้าคณะสนใจมาก แต่งบสถาบันมีจำกัด เขาจึงขอเวลาหาสปอนเซอร์เพิ่มเติมเพื่อมาสนับสนุนงาน หากทุกอย่างไปด้วยดี โปรเจ็คท์นี้ก็จะมีขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ระยะเวลาการสอน 3 เดือน และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถลงทะเบียนเรียนได้ด้วยนะ
16. สุภาพบุรุษแสนสุภาพ
“ขอบคุณมากนะ ผมดีใจจริงๆ ที่ได้มาที่นี่” นี่เป็นคำพูดติดปากของเขา
ที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกดีมีความสุขที่รู้ว่าเพื่อนร่วมทางพอใจ
วันนี้ก็เช่นกัน แต่พิเศษกว่า
“ขอบคุณมากครับสำหรับทุกๆ อย่างที่ทำให้ผม ผมมีความสุขมากนะ” เขาพูดด้วยวาจาที่สุภาพอ่อนน้อม อันที่จริงประโยคนี้เราต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายพูด เราเกรงใจเขามากเพราะทั้งๆ ที่เขามีงานรัดตัว แต่เขายังตอบตกลงร่วมงาน The Nocturnal World of Fred Kelemen (ราตรีวิเวกของ เฟรด เคเลเม็น) โดยไม่คิดถึงค่าตอบแทนใด ๆ เลย แถมเขาก็ไม่เอาค่าลิขสิทธิ์ฉายหนังด้วย (ปกติหนังที่ฉายในงานเทศกาลแต่ละรอบต้องจ่ายกันไม่ใช่น้อย ๆ)
17. วัดหัวลำโพง (9 พ.ย.50)
เราสัญญากับเขาว่าจะพามาที่วัดหัวลำโพง เพราะขับรถผ่านทีไรเขาก็บอกอยากแวะทุกที
วันนี้เฟรดจะบินกลับเยอรมันแล้ว แต่เช้านี้เขายังมีนัดคุยอีกหลายคน ไล่จากตอน 11.00-12.00 น. กับผู้อำนวยการเกอเธ่, บ่ายโมงเจอโปรดิวเซอร์ (คนไทย) ที่หอศิลป์จามจุรี, บ่าย 3 ตรวจบทสัมภาษณ์และส่งเมล์ให้บางกอกโพสต์
“เย้ ! เสร็จแล้ว” เราร้องด้วยความดีใจเมื่อภารกิจต่างๆ ของเฟรดสิ้นสุดลง และรีบเดินไปวัดอย่างรวดเร็วก่อนที่วัดจะปิด
“ทำไมถึงมีรูปปั้นหลายศาสนาล่ะ” เฟรดถามด้วยความสงสัย
“อ้อ! ถ้าไหว้อันนี้ไม่ได้ผล พรุ่งนี้ก็มาไหว้ใหม่อีกเป็นอันนี้ แล้วถ้าไม่สมหวังอีกก็ไหว้อันนี้” สนธยาตอบ เฟรดยิ้มรับมุข
“ผมมีความสุขจริงๆ นะที่ได้มาที่นี่” เฟรดพูดขณะก้าวขึ้นบันไดวัด และดูเหมือนว่าเขาจะชอบจริงๆ อย่างที่เขาพูด เขาเดินทั่ววัด ดูคนที่มาไหว้พระ ดูภาพจิตรกรรมฝาพนังด้านใน ถ่ายภาพ และตีระฆังแขวนเป็นศิริมงคล สักพักใหญ่เจ้าหน้าที่ก็เดินมาปิดวัด เราเลยเดินดูข้างล่างต่อ
“นี่อะไร” เฟรดชี้ไปที่เมนเผาศพ
“ที่เผาศพคนตาย” เราบอกเขา
“ขึ้นไปดูได้มั๊ย” เฟรดถาม
“ได้สิ”ฉันรีบบอกเขาเพราะเมื่อกี้เพิ่งขออนุญาตสัปเหร่อ
พวกเราไปยืนชะโงกหน้ามองเข้าในเตา อั๊ยหยา... ยังร้อนอยู่เลย ยุ่งแล้วสิ ชักร้อนๆ หนาวๆ แล้วตัวใครตัวมันล่ะคราวนี้
แล้วเรารีบเดิน (กลับ) อีกครั้ง เพราะเฟรดมีนัดกับเพื่อนอีกคนตอน 6 โมง
18. กำลังใจจาก เฟรด
“นี่ไงหนังสือเล่มใหม่และเล่มสุดท้ายของฟิล์มไวรัส” สนธยายื่นหนังสือ สัตว์วิกาล: ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ ให้เฟรดดู
“โอ้ ! สวยดีนี่” เฟรดพลิกดูด้วยความสนใจ
“ทำต่อเถอะ สิ่งที่คุณทำเนี่ยดีแล้วนะ ทั้งการจัดฉายหนังและหนังสือ ไม่แน่นะหนึ่งในจำนวนคนดูไม่กี่คนนี้อาจเป็นคนทำหนังที่ดีในอนาคตก็ได้ อย่าหยุดทำเลย สู้สู้” เสียงหนักแน่นจริงจังของเฟรดพูดกับสนธยาที่บ่นว่าทำต่อไปก็เท่านั้น เขาเล่าให้ฟังว่าเขาเองก็เคยจัดฉายหนังเหมือนกันที่เยอรมนี ฉายหนังเงียบของชิลีและแลตเวียที่แทบไม่มีใครรู้จัก คนดูน้อยมาก แต่เขาก็ยังฉาย ทั้งๆ ที่ฉายแล้วไม่คุ้ม ต้องแบกภาระค่าเช่าสถานที่ สนธยาแปลกใจมากที่เฟรดไปสาละวนกับการฉายหนัง “คนทำหนังคนอื่นเขาสนใจแค่ทำหนังตัวเอง คุณเอาเวลาไปกำกับหนังไม่ดีกว่าเหรอ ทำไมมัวมานั่งเปิดคอร์สทำหนัง-ฉายหนัง-ถ่ายหนังให้กับคนอื่น” เฟรดเลยย้อนเข้าให้ “ถ้าคุณรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นมีประโยชน์ต่อคนดู แล้วคุณมีใจรักและศรัทธาหนัง งั้นคุณจะเลิกได้ลงเหรอ” สนธยา อึ้งไปแล้วงึมงำ “ศรัทธาเหรอ บางทีผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพอมั้ย”
19. ภาพถ่ายของ เฟรด
เวลาว่างๆ ฉันมักขออนุญาตเฟรดดูภาพในกล้องที่เขาถ่าย
โอ๊ะ โอ ! สมแล้วล่ะที่เขาได้รับฉายาเป็นยอดผู้กำกับภาพยนตร์ศิลปะที่น่าจับตามองที่สุดในโลกภาพยนตร์ปัจจุบัน แถมเป็นตากล้องเนตรนิมิตอีกตั้งหาก ทั้งๆ ที่เราก็อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน จุดเดียวกัน และเวลาเดียวกัน แต่มุมมองการถ่ายภาพของเขาน่าสนใจมาก อย่าง 1) ภาพโรงพยาบาลศิริราช เขาถ่ายจากสวนสันติชัยตอนพระอาทิตย์กำลังจะตก ภาพนั้นมีเงาทับซ้อนเบลอๆ แต่ยังคงเห็นตัวอาคารชัดเจน และมีเส้นยักๆ คล้ายฟ้าผ่าอยู่ตรงกลาง และรอบๆ ก็เป็นตึกเบลอๆ เช่นกัน ดูกี่ทีกี่ทีเหมือนภาพวาดนามธรรมที่ผสมสีระหว่างแสงอาทิตย์กับแสงนีออน 2) ภาพเจดีย์ที่วัดพระแก้ว ด้านหน้าดูมืดๆ นิดหน่อย เขาใช้ผนังวัดทั้งซ้ายขวาเป็นฉากคล้ายๆ หน้าต่างที่เปิดแง้มไว้ ตรงกลางเป็นช่องเล็กๆ และสามารถมองเห็นยอดเจดีย์ด้านหลังซึ่งอยู่กลางแจ้งได้อย่างชัดเจน ทำให้รู้สึกว่าเรากำลังแอบดูเจดีย์อยู่ อะไรทำนองนั้น 3) ภาพแสงระยิบระยับเป็นประกายที่อยู่บนหลังคาวัดเพียงกระจุกเดียว ส่วนหลังคาอื่นๆ ใกล้เคียงกลับมืดครึ้ม หลอนดี 4) ภาพพระหนุ่ม 2 คน ยืนคุยกันและหันหลังให้กล้อง ด้านหน้าเห็นเป็นตึกทันสมัย สะพานทางด่วน และรถติด 5) ภาพการแสดงหมอลำกลอนโบราณ ที่มองเห็นผ่านด้านหลังของเด็กสองคน 6) บรรดาภาพตึกสูงๆ ยืนเรียงรายที่ปกคลุมด้วยหมอกทึบๆ จนเห็นตึกเป็นสีเทา ซึ่งดูไซไฟมากๆ ภาพนี้เขาถ่ายจากห้องพักที่สาทร ชั้น 23 และภาพอื่นๆ อีกมากที่งดงามมาก และดูหลอนๆ ในแบบฉบับ เฟรด เคเลเม็น
20. ตรวจสอบความพร้อม
“ต้องเล็กลงกว่านี้ ต้องปรับให้เหมาะกับจอนะ” เฟรดบอกช่างที่ธรรมศาสตร์
“ทำไม่ได้ครับ โปรแกรมตั้งเรียบร้อยแล้วว่าต้องแบบนี้” ช่างรีบบอกเขา
“เป็นไปไม่ได้ ต้องปรับได้ซิ ไม่มีโปรแกรมไหนที่ตั้งตายตัว” เฟรดแย้ง และยืนยันให้ปรับ
“นั่นแหละ พอๆ โอเค” แล้วที่นี่ปรับสีให้เข้มขึ้นอีก “อีก อีก อีก... โอ๊ย ! ไม่ๆๆ สว่างขึ้นหน่อย อีกหน่อย พอๆๆ โอเคแล้ว ทีนี้ปรับเสียงด้วยนะ อีกหน่อย อีก อีก... โอเค” “เสียงเบสก็ยังไม่ได้ ไหนลองปรับขึ้นหน่อย อีก อีก ยังไม่ได้ ลองปรับลงบ้างสิ อีกหน่อย อีก อีก ให้แหลมอีกนิด อีกหน่อย ยังไม่ได้ยินเสียงแบ็คกราวนด์”
และเมื่อปรับโน้นปรับนี้จนช่างเหงื่อแตกได้ที่ เฟรดก็บอกให้ลองฉายสักพักหนึ่ง เขานั่งดูอย่างใจจดใจจ่อ แล้วส่งสัญญาณโอเค แล้วพูดว่า “แม้จะไม่สมบูรณ์ 100% แต่ก็โอเค เพราะเกรงว่าถ้าปรับมากกว่านี้กลัวช่างมือหนัก ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีก เดี๋ยวจะไม่ทันเวลาฉาย”
แล้วฉันก็เห็นช่างหายใจออกเฮือกใหญ่ด้วยความดีใจ แล้วหันมาพูดกับฉันว่า “ผู้กำกับคนนี้เขี้ยวจัง ละเอียดมากๆ รู้ไปหมด รู้ทุกอย่างเลย นับถือ นับถือ”
21. สุวรรณภูมิ
นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันมาสุวรรณภูมิ ฉันว่ามันใหญ่เกินไปนะ สงสารคนแก่ว่ะ
เรามั่วๆ จับเส้นทางไปจนเจอ โชคดีที่เราเผื่อเวลามาเกินพอ ทุกอย่างแจ๋วตามแผน
แล้วเราก็เลือกร้านแบล็กแคนยอน เพราะอยากคุยกับเฟรดส่งท้าย
เป็นค่ำคืนที่เต็มด้วยเสียงหัวเราะ ทั้งเฟรดและสนธยาหัวเราะได้ตลอดเวลา คุยอะไรทั้งคู่ก็รับและส่งมุขกระจาย
“เลือกเลย เล่มไหน” สนธยาหยิบนิตยสารหนากองหนึ่งวางบนโต๊ะ
เฟรดพลิกดูไปมา แล้วพูดว่า “ทำไมมีแต่โฆษณาล่ะ” แล้วก็หัวเราะ
“แล้วนางแบบคนนี้แปลกๆ ทำไมเธอนุ่งกางเกงในไว้ข้างนอก เป็นแฟชั่นยุคไหนเหรอ” ทั้งคู่หัวเราะกันตลอด พวกเขาหัวเราะจนใกล้ถึงเวลาเครื่องบินมา เราเลยเดินไปส่งตรงประตูเช็คอิน
เฟรดเข้ามากอดพวกเราอย่างอบอุ่นสองครั้ง และบอกสนธยาอย่าลืมไปหาหมอด้วยนะ
และก่อนที่เขาจะเดินสู่ประตูด้านใน เฟรดหันหลังมาทางพวกเรา เขาเอามือกำที่หน้าอกแล้วทำท่าโยนมาให้ สนธยารับมุขรีบทำท่ารับไว้ได้ แล้วพวกเราก็หัวเราะกันพร้อมโบกมือ บาย บาย
....
จบ
ปล. ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ทำให้งาน Fred Kelemen Masterclass ลุล่วงไปได้ด้วยดี ขอบคุณเพื่อนพ้องอย่าง MDS, กัลปพฤกษ์ และ filmsick, Big, พี่สุ, กล้า, จุ๋ม, หนุ่ย, นาดที่ทุ่มเทแรงกายใจทั้งเบื้องหน้าและหลังงาน รวมทั้งขอขอบคุณคุณ โสรยา, คนดูหนัง สถาบันเกอเธ่ สำนักหอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์ม และสมาชิกวงการละครเวทีทุกท่านที่ร่วมรับฟังตลอดงานทั้ง 4 วัน