ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อนโน้น... ข้าน้อยต้องขอคาราวะคุณทวดทั้งหลายจากใจทั้งหมดที่มี เพราะในสมัยนั้นกว่าจะส่งจดหมายสักฉบับ คุณทวดของพวกเราต้องเดิน...แล้วก็เดิน... เป็นเดือนๆ ด้วยลำแข้งสองขาโดยไม่ปริปากบ่นสักคำ เพื่อให้จดหมายถึงปลายทางอย่างปลอดภัย
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2418 เมื่อประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ได้มีการจัดตั้งสถานกงสุลขึ้นในกรุงเทพ ฯโดยสถานกงสุลอังกฤษเป็นคนริเริ่มการไปรษณีย์ขึ้น บริการรับฝากจดหมายหรือหนังสือจากประเทศไทย ไปยังที่ทำการไปรษณีย์ประเทศสิงคโปร์ และส่งต่อยังจุดหมายปลายทาง โดยใช้ตราไปรษณีย์ที่นำมาจากสิงคโปร์ พิมพ์อักษรว่า “ B “ ลงบนตราไปรษณียากรนั้น แทนคำว่า “ BANGKOK “ ผนึก ทับบนจดหมาย หรือหนังสือเพื่อฝากส่งไปกับเรือพาณิชย์ แต่ตอนหลังได้ยกเลิกไปเมื่อมีบริการไปรษณีย์ของสยามอย่างเป็นทางการ
และในช่วงเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า ภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับเจ้านายกลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมกันจัดทำหนังสือพิมพ์รายวัน ชื่อ "ข่าวราชการ" ( COURT ) ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนต้องมีคนเดินส่งหนังสือแก่สมาชิกทุกเช้า ดังนั้นจึงได้ทรง จัดพิมพ์ " ตั๋วแสตมป์ " เพื่อใช้เป็นค่าบริการ ซึ่งต่อมาแสตมป์ได้ขยายไปถึงการเดินส่งจดหมายแก่สมาชิกด้วย โดยตั๋วแสตมป์ 1 ดวง แทนราคา 1 อัฐ แต่ตั๋วแสตมป์ดังกล่าวไม่มีตัวอักษร หรือเลขหมาย บอกราคาไว้
และประมาณกลางปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ขอให้พระองค์ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย ปรากฏว่าพระองค์มีพระดำริเห็นชอบ จึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุ รังษีสว่างวงศ์ ทรงเตรียมจัดตั้งการไปรษณีย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2424 จนถึง วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์และโทรเลขขึ้น โดย ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราช การกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยใช้อาคารริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือ ปากคลองโอ่งอ่าง เป็นสถานที่ทำการแห่งแรกและเรียกอาคารหลังนี้ว่า “ไปรษณียาคาร“ และได้สั่งพิมพ์ตราไปรษณียากร จาก บริษัท WATERLOW AND SOWS LONDON มาเพื่อเตรียมใช้งาน 6 ชนิดราคา คือ โสฬส อัฐ เสี้ยว ซีก เฟื้อง สลึง โดยเรียกแสตมป์ ชุดนี้ว่า “ ชุดโสฬส “ แสตมป์ชุดแรกนี้ เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์เบื้องซ้ายภายในกรอบรูปไข่ เริ่มออกจำหน่าย วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ปัจจุบันถือว่าเป็นแสตมป์ที่หายากมากและราคาแพงลิบลิ่วทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามการที่แสตมป์ดวงใดจะทรงคุณค่า ไม่ได้อยู่ที่ความ เก่าแก่อย่างเดียว แต่อาจขึ้นอยู่กับจำนวนพิมพ์น้อย หายาก และเป็นที่สนใจของนักสะสม
ในปัจจุบันแสตมป์ไทยได้พัฒนาเท่าเทียมกับอารยะประเทศ มีนักออกแบบบางคนพยายามสร้างผลงานของตนเอง โดยยึดหลักรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น